การรถไฟฯ นำคณะสื่อมวลร่วมเป็นสักขีพยานตรวจรับขบวนรถดีเซลราง Kiha จาก JR Hokkaido จำนวน 17 คัน ที่เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว มั่นใจมีความคุ้มค่า ช่วยเสริมศักยภาพในการเดินทาง และการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

           (13 ธันวาคม 64) นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมรับขบวนรถดีเซลราง KIHA จำนวน 17 คัน ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ณ ศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้บริหารการรถไฟฯ และคณะสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน และเข้าร่วมสังเกตการณ์ตรวจขบวนรถโดยสารทั้ง 17 คันอย่างใกล้ชิดก่อนนำมาปรับปรุงเปิดให้บริการ
           นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้มีความร่วมมือกับบริษัท JR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น ในการส่งมอบขบวนรถดีเซลราง KIHA 183 (คีฮา) จำนวน 17 คัน มาให้กับประเทศไทยฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้ขบวนรถไฟดังกล่าวได้ขนย้ายจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย รถมีห้องขับสูง (High Cab) จำนวน 8 คัน รถมีห้องขับต่ำ (Low Cab) จำนวน 1 คัน (KIHA 183) และรถไม่มีห้องขับ (KIHA 182) จำนวน 8 คัน
          สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ การรถไฟฯ จะขนย้ายรถดีเซลราง KIHA ทั้ง 17 คัน ไปที่โรงงานมักกะสัน เพื่อซ่อมบำรุง โดยให้ฝ่ายการช่างกลดำเนินการทดสอบสมรรถนะตัวรถ และตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วน ตรวจสภาพของเครื่องยนต์ ทดสอบ และทดลองเครื่องยนต์ รวมถึงการฝึกอบรมการใช้งานของพนักงานรถจักร และพนักงานเทคนิค โดยมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะนำรถดีเซลราง KIHA ทั้งหมด มาเปิดให้บริการเดินรถใน 4 เส้นทาง พร้อมกับเปิดให้ประชาชน หน่วยงาน หรือผู้สนใจเช่าเหมาขบวนในรูปแบบ Charter Train โดยมี 4 เส้นทางหลัก ได้แก่ 1. อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากการเปิดให้บริการรถไฟสายลาว – จีน และประชาชนที่เดินทางระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว 2. นครราชสีมา – ขอนแก่น เพื่อรองรับการบริการในช่วงทางคู่สายขอนแก่นให้มีศักยภาพด้านการเดินทางระหว่างจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่นที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นขนส่งต่อเนื่อง (Feeder) ของรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ – นครราชสีมา 3. กรุงเทพ – หัวหิน – สวนสนประดิพัทธ์ เพื่อทดแทนขบวนรถไฟนำเที่ยวชายทะเลสวนสนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นขบวนรถไฟนำเที่ยวประจำที่มีปริมาณผู้ใช้งานสูง
            โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของการเดินทาง การท่องเที่ยว และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่และลูกค้าประจำ และ 4.ขบวนรถท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางและจังหวัดใกล้เคียง เช่น อยุธยา ลพบุรี สระบุรี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปากช่อง นครปฐม ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตามฤดูกาล เทศกาล หรืออีเวนต์พิเศษต่างๆ ด้านการท่องเที่ยว
            นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลความปลอดภัยในการให้บริการขนส่งทางราง การรถไฟฯ ยังได้จัดซื้อรถโบกี้ปั้นจั่นกลจำนวน 3 คัน ขนาดยกได้ไม่ต่ำกว่า 80 ตัน เป็นรถโบกี้คุณภาพสูง ผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศเยอรมนี มีขนาดกำลังยกไม่ต่ำกว่า 80 ตัน มีคันปั้นจั่นที่ยาว ทำให้ยกรถตกรางในพื้นที่กว้างโดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนรถหลายครั้งได้ อีกทั้งสามารถใช้งานบน Electrified Track และในพื้นที่แคบ เช่น อุโมงค์ บนสะพาน ทางคู่ รวมถึงบนพื้นที่ลาดเอียง และยกรถตกรางในอุโมงค์ได้ โดยมีความเร็วเคลื่อนที่ด้วยตัวเองไม่กว่า 20 กม./ชม. สามารถลากจูงทำขบวนได้ที่ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม.อีกด้วย

ภาพ/ข่าวประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี

Subscribe
Advertisement