เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเยือนเมืองพัทยา พร้อมหารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ระบบสาธารณสุข การศึกษา และความคืบหน้าของระบบขนส่งมวลชนโมโนเรลพัทยา

วันที่ 25 พ.ย.64 คณะผู้บริหารเมืองพัทยา นำโดยนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมคณะทำงานนายกเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา ร่วมให้การต้อนรับ H.E.Mr.Thierry Mathou เอกอัคราชทูตประเทศฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พร้อมคณะ ที่เดินทางมาเยือนเมืองพัทยา พร้อมเข้าพูดคุยและหารือถึงสถานะของชาวฝรั่งเศสในเมืองพัทยา และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขจากผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งโครงการ Smart City ระบบ 5G และการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งประเทศไทยร่วมกับฝรั่งเศสในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

โดย H.E.Mr.Thierry Mathou เอกอัคราชทูตประเทศฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า การควบคุมโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่าได้ดำเนินการบริการในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งพบว่าเป็นวัคซีนที่มาจาก 2 ประเทศ คือฝรั่งเศสและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ซึ่งต้องขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขและเมืองพัทยาที่ช่วยจัดสรรวัคซีนให้กับพี่น้องชาวฝรั่งเศส รวมทั้งภรรยาชาวไทยและบุตรของชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในเมืองพัทยา ที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ลงทะเบียน 1,600 คน และลงทะเบียนในกรุงเทพฯ แต่มาอยู่อาศัยในเมืองพัทยาประมาณ 2,000-3,000 คน เฉลี่ยอายุประมาณ 60-65 ปี ซึ่งมีข่าวดีว่าในส่วนของวัคซีนจอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์น่าจะเข้าถึงประเทศไทยอีกในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ และจะไ้ด้ทำการบูสเตอร์วัคซีนในโดสที่ 3 ตามลำดับ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือมาตรฐานของการศึกษาและโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุต้องมีมาตรฐานต่างๆ ที่รัดกุม ในส่วนของเมืองพัทยาเองก็พบว่ามีสมาคมประจำประเทศฝรั่งเศสอยู่ ถึงแม้ไม่มีกงสุลประจำในเมืองพัทยา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการร่วมกับกงสุลประเทศออสเตรีย และเยอรมัน แต่เราก็มีโรงเรียนที่ได้มาตรฐานสถานศึกษาของประเทศฝรั่งเศสอยู่ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการในส่วนของการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งก็ได้มีความพยายามผลักดันให้สามารถเพิ่มการเรียนการสอนได้ถึงระดับชั้นมัธยมต่อไปด้วยเช่นกัน และจากสถานการณ์ปกติก่อนจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 นั้นพบว่ามีชาวฝรั่งเศสเดินทางมายังประเทศไทยถึง 8 แสนคน จึงอยากรับทราบแนวทางของเมืองพัทยาในอนาคตที่จะทำให้การท่องเที่ยวราบรื่นขึ้น

ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้กล่าวชี้แจงพร้อมนำเสนอข้อมูลในการดำเนินการของเมืองพัทยาต่อข้อซักถามของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ว่า เมืองพัทยาเป็นเมืองปกครองพิเศษที่ดำเนินการตามแนวทางพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศจากรัฐบาลอย่างควบคู่กันมาโดยตลอด เมืองพัทยาได้วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ในส่วนแรกของการสร้างความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข ที่เมืองพัทยาได้ปฏิบัติตามแนวทางของจังหวัดชลบุรี ซึ่งท่ีผ่านมาได้มีการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการให้บริการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และวางเป้าหมายการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทั้งจังหวัดชลบุรีให้ครอบคลุม 100% ทั้งประชาชน ผู้อยู่อาศัย รวมถึงนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ และกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองพัทยา

ในส่วนของการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น เมืองพัทยาได้วางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบอีเว้นต์ซีรีส์ที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ ตั้งแต่ ศบค.ได้มีมาตรการคลี่คลายเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติวันที่ 1 พ.ย.64 ด้วยมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยมีการจัดงานดนตรีพัทยามิวสิคเฟสติวัล งานลอยกระทง เทศกาลพลุเมืองพัทยา งานเดินกินถิ่นนาเกลือ และเทศกาลพัทยาเค้าท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว นอกจากนี้เมืองพัทยา และภาคเอกชน ได้ร่วมกับรัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดทำโครงการ Pattaya Move on ที่ได้สร้างมาตรฐานทางด้านสุขอนามัยที่ดีต่อการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังเมืองพัทยาภายใต้มาตรการต่างๆ ที่รัดกุมและปลอดภัย

ทั้งนี้ ในการพัฒนายกระดับท้องถิ่นสู่เมืองเศรษฐกิจแห่งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เมืองพัทยาได้วางแนวทางการพัฒนาเมืองพัทยาสู่ NEO Pattaya ตามยุทธศาตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยได้วางแผนการดำเนินโครงการ Pattaya Smart City เพื่อนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ที่ทันสมัย นำมาพัฒนาเมืองพัทยา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาในการจัดทำโครงการแอปพลิเคชั่นไลน์ Pattaya Connect ที่มีสมาชิกติดตามกว่า 1.2 ล้านคน เพื่อเป็นช่องทางโซเชียลมีเดียสื่อสังคมออนไลน์ในการนำเสนอข้อมูลลต่างๆ จากทางภาครัฐ ในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของเมืองพัทยา การรายงานผลการจราจรในเขตเมืองพัทยา ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา รวมทั้งรับข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อเข้าถึงประชาชน และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้มากที่สุดตามที่ปัจจุบันผู้คนนิยมใช้สื่อออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เมืองพัทยายังได้พัฒนาเครือข่าย 5G โดยร่วมกับการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้บริหารจัดการมากขึ้น ภายในปี 2022 จะมีเสาสัญญาณ 5G ครอบคลุมพื้นที่เมืองพัทยาถึง 90 ต้น
ในเรื่องของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนนั้น เมืองพัทยาได้จัดทำศึกษา ออกแบบและประมาณการแนวทางจัดทำระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือโครงการโมโนเรลพัทยา ซึ่งได้ศึกษาความเหมาะสมออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบรถไฟฟ้าโมโนเรลในเส้นทางรวม 9.9 กม. รวม 12 สถานีหลัก และ 1 สถานีย่อย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และเชื่อว่าจะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

Subscribe
Advertisement