TGO ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เร่งขยายผลการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เขต EEC มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

        วันนี้ (31 ส.ค.64) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Zoom Meetingโดยได้รับเกียรติจากนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นประธานเปิดงานสัมมนา

          สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแบบเดิมตามระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ที่มีการนำทรัพยากรมาใช้จำนวนมาก เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ ส่งต่อให้ผู้บริโภคนำไปใช้งาน และทิ้งเป็นขยะหลังเลิกการใช้งานแล้ว (take-make-use-dispose) โดยไม่นำกลับมาใช้ใหม่ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาขยะและของเสีย ที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของภาครัฐและเอกชนในปัจจุบัน สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม เนื่องจากเศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งเน้นที่การนำวัตถุดิบที่เหลือทิ้งและผลิตภัณฑ์พลอยได้ (หรือของเสีย) จากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำตามสภาพ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างสูงสุด
          TGO ตระหนักถึงประโยชน์ของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าว จึงเสนอให้จัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในปีงบประมาณ 2564 โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนรวม 6 องค์กร ที่จะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ 1. บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด 2. บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด 4. บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท แคททาเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ 6. บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ TGO ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำในพื้นที่ EEC และสำรวจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและด้านเทคโนโลยีในการผลิตของโรงงาน ตลอดจนจัดทำเกณฑ์ประเมินความพร้อมการเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ และปรับปรุง GHG Mitigation Information Platform เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ EEC ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวกว่า 203 คน

Subscribe
Advertisement