รองนายกเมืองพัทยาเผยเตรียมจับปรับโรงแรมทิ้งขยะติดเชื้อปนเปื้อนกับขยะครัวเรือน เดินหน้าใช้ยาแรงทุกโรงแรมที่มีพฤติกรรม ความผิดครั้งแรกแค่ตักเตือน หากพบอีกเตรียมใช้กฎกระทรวงดำเนินคดี ด้านพนักงานจัดเก็บขยะพบติดเชื้อแล้ว 3 ราย

         เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายสุธี ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา ได้ลงพื้นที่โรงแรมชลจันทร์ หลังจากที่ได้รับรายงานจากบริษัท อิสเทิร์น กรีน เวิลด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในการจัดเก็บขยะทั่วไปของเมืองพัทยา ว่าที่โรงแรมดังกล่าวมีการลักลอบนำขยะติดเชื้อ ทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป หรือขยะครัวเรือน ในลักษณะนำถุงขยะสีแดง มารวมใส่ถุงสีดำ แล้วนำมาทิ้งในจุดทิ้งขยะทั่วไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยขึ้นหลังจากที่พบว่าจำนวนขยะทั่วไปของโรงแรมดังกล่าวมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และในส่วนของจำนวนขยะติดเชื้อก็พบว่ามีจำนวนที่น้อยลง ทั้งๆ ที่โรงแรมดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 14 แห่ง ของ Hospitel ในพื้นที่เมืองพัทยา ในส่วนของขยะติดเชื้อ จะต้องมีปริมาณที่มากกว่าขยะทั่วไป เนื่องจากขยะที่เกิดขึ้นคนเข้าพักทั้งหมดจะต้องเป็นขยะติดเชื้อ ไม่สามารถที่จะทิ้งรวมกับขยะทั่วไปได้ และต้องน้ำขยะที่เกิดขึ้นใส่ถุงขยะสีแดง
         นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาการทิ้งขยะติดเชื้อรวมกับขยะทั่วไปของโรงแรมชลจันทร์นี้ เกิดขึ้นมาจากที่พบว่าก่อนหน้านี้ทางโรงแรมเสนอตัวเป็น State Quarantine หรือสถานกักกันโรคของรัฐ ซึ่งพบว่าขยะติดเชื้อจะมีปริมาณมากกว่าขยะทั่วไป เพราะขยะทุกชิ้นที่เกิดจากผู้กักตัวก็จะกลายเป็นขยะติดเชื้อและต้องใส่ถุงสีแดงเพื่อนำมาทิ้งที่จุดทิ้งขยะติดเชื้อของทางโรงแรม โดยที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้ดำเนินการค่าจัดเก็บขยะติดเชื้อทั้งหมดจากภาครัฐ จนวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นการดำเนินการจัดเก็บค่าขยะติดเชื้อกับรัฐเป็นวันสุดท้าย ก่อนที่ทางโรงแรมจะเสนอตัวในการเป็น Hospitel ในการรองรับผู้ป่วยในพื้นที่เมืองพัทยา โดยหลังจากที่เปลี่ยนเป็น Hospitel ก็พบว่าจำนวนขยะติดเชื้อน้อยลง แต่ขยะทั่วไปกลับเพิ่มมากขึ้น พนักงานเก็บขยะของบริษัท อิสเทิร์น กรีน เวิลด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในการจัดเก็บขยะทั่วไปของเมืองพัทยา จึงได้ทำการกรีดถุงดำที่บรรจุขยะทิ้งอยู่ในที่จัดเก็บขยะทั่วไปดู ก็พบว่าภายในถุงขยะดำ บรรจุถุงขยะสีแดงอยู่หลายถุง ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นความผิดข้อบัญญัติเมืองพัทยา
          นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าภายในห้องพักของโรงแรมได้มีการทำป้ายแจ้งผู้พักในการให้ทิ้งขยะประเภทว่าประเภทใดต้องทิ้งในถุงดำ และประเภทใดต้องทิ้งในถุงแดง โดยภายในห้องพักก็มีถังขยะ 2 ใบ ถุง 2 สีให้กับผู้ป่วย ซึ่งจริงๆ แล้วขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากผู้ป่วยจะต้องถูกนำทิ้งในประเภทขยะถุงสีแดง เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เนื่องจากขยะดังกล่าวเป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งล่าสุดพบพนักงานจัดเก็บขยะที่เก็บขยะของโรงแรมก็ได้ติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 3 ราย มาในวันนี้จึงได้เดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนางณัฐวรรณ นนทปรยะ ผู้จัดการแผนกจัดซื้อโรงแรมคอยชี้แจงและนำพาเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ
           นางณัฐวรรณ นนทปรยะ ผู้จัดการแผนกจัดซื้อโรงแรม หลังทราบเรื่องก็ชี้แจงว่าไม่รู้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และพร้อมจะทำการตรวจสอบและแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเมืองพัทยาได้ให้ทางโรงแรมรื้อฉากกั้นที่วางขยะทั่วไปออกเนื่องจากว่าเป็นขยะทั่วไปไม่จำเป็นต้องทำที่กั้น พร้อมกันนี้พบว่าในส่วนของถังขยะต้องเปลี่ยนเป็นถังแบบมีล้อ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ทำงานได้อย่างสะดวก เนื่องจากระยะทางของถังขยะกับจุดจอดรถไกล เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการจัดเก็บได้เองโดยเจ้าหนาที่โรงแรมไม่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ
          ด้านนายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา เปิดเผยว่า การกระทำดังกล่าวของโรงแรมถือว่าเป็นความผิดต่อข้อบัญญัติเมืองพัทยา ข้อ 16 ทิ้งขยะปะปนกับมูลฝอยอื่น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนตามข้อ 52 เป็นความผิดมาตรา 73 วรรค 2 พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท โดยในวันนี้ถือว่าเป็นความผิดครั้งแรก ทางเมืองพัทยาจะดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนและดำเนินการจับปรับ โดยใช้ข้อบัญญัติของเมืองพัทยา แต่หากพบว่าจากนี้ไปยังคงแอบลักลอบนำขยะมาอันตรายไปที่ทิ้งขยะทั่วไปอีก ทางเมืองพัทยาก็จะใช้ยาแรง โดยจะดำเนินการเอาผิดโรงแรมตามกฎกระทรวง ข้อ 4 ห้ามมิให้ผู้ใด ถ่าย เท ทิ้ง หรือทำให้มีขึ้นในที่ทางสาธารณะ ซึ่งขยะมูลฝอยติดเชื้อนอกจากต้องทิ้งหรือกำจัด ณ สถานที่ หรือตามวิธีที่ท้องถิ่นกำหนด หรือจัดให้ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายออกตามมาตรา 68/1 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
           สำหรับโรงแรมชลจันทร์เองนั้นในอดีตเคยผ่านการเป็นโรงแรม State Quarantine มาแล้ว และทราบเป็นอย่างดีเรื่องของการจัดการขยะของ State Quarantine ดังนั้นการเปลี่ยนเป็น Hospitel ก็ใช้หลักการกำจัดขยะเดียวกัน จะไม่รู้ไม่ได้ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าอาจจะเป็นการเลี่ยงค่าจัดเก็บขยะ ที่ก่อนหน้านี้ในอดีตที่เป็น State Quarantine ภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่พอเปลี่ยนมาเป็น Hospitel เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ทางโรงแรมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ เอง รวมถึงค่าจัดเก็บขยะที่พบว่าค่าจัดเก็บขยะติดเชื้อจะอยู่ที่ประมาณกิโลละ 24 บาท และขยะทั่วไปอยู่ที่กิโลละ 1.50 บาท จึงน่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงค่าจัดเก็บขยะติดเชื้อ
          อย่างไรก็ตามพบว่าในวันนี้ด้วยหลักฐานที่เกิดขึ้น ทางเมืองพัทยาต้องดำเนินการปรับเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท และตักเตือนก่อนในครั้งแรก เพื่อเป็นการป้องกันการเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หากพบว่ามีการลักลอบดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอีก ทางเมืองพัทยาก็เตรียมใช้กฏกระทรวงในการดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป นอกจากนี้ในส่วนของ Hospitel ที่เหลือ หากพบว่ามีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ทางเมืองพัทยาก็จะดำเนินการจับปรับทันที

Subscribe
Advertisement