กลุ่มพัฒนาแรงงานตะวันออกยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้เยียวยาและฉีดวัคซีนให้แรงงาน

         เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 1 พ.ค.64 ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ จ.ชลบุรี ได้มีกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก นำโดยนายบุญยืน สุขใหม่ อายุ 51 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก พร้อมสมาชิกที่อ้างว่าเป็นกลุ่มแรงงาน รวม 18 คน ได้เดินทางโดยรถยนต์ติดเครื่องเสียงพร้อมป้ายประท้วง ส่งตัวแทน 4 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่นายสุชาติไม่อยู่ จึงให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน มารับหนังสือแทน โดยริมถนนด้านหน้าพรรค มีนายสหัสวัต คุ้มคง อายุ 29 ปี และกลุ่มกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก พร้อมสมาชิกที่อ้างว่าเป็นกลุ่มแรงงาน ยืนพูดปากเปล่า เรียกร้องให้ปล่อยแกนนำที่ถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำ พร้อมประนามรัฐบาลต่างๆ นานา ด้วยถ้อยคำดุเดือด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เสม็ด ได้นำกำลังมารักษาความสงบ พร้อมทั้งประกาศให้ยุติการชุมนุมเพราะผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดได้พับนกกระดาษแล้วร่อนอยู่ริมถนน จากนั้นได้แยกย้ายกันเดินทางกลับ
         ด้านนายบุญยืน สุขใหม่ อายุ 51 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้กล่าวหลังจากยื่นหนังสือว่า ในยุคอุตสาหกรรมช่วงแรก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรควบคู่กับแรงงานมนุษย์ โดยไม่มีสวัสดิการหรือข้อตกลงที่ชัดเจน ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานได้เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานลดลงแต่เพิ่มค่าแรงขึ้น จนนำไปสู่การชุมนุมทั่วทั้งอเมริกา และเกิดการปะทะกันระหว่างแรงงานและตำรวจที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต ในปี ค.ศ.1889 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน ต่อมาทั่วโลกให้การยกย่องความกล้าหาญของการต่อรองครั้งนั้นระหว่างขบวนการแรงงานและรัฐ ด้วยการกำหนดให้ วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล หรือที่เรียกว่า เมย์เดย์ (May Day) ด้วยกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและเครือข่ายแรงงาน เพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน ในภาคตะวันออกและประเทศไทย ตระหนักว่าจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหาจากการถูกเลิกจ้างหรือตัดเงินเดือน และเกิดความวิตกกังวล กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

         จึงขอเรียกร้องให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป ตามข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ปี 2564 ดังนี้
         1. รัฐต้องดำเนินการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้แรงงานและประชาชนทุกคนภายในเดือนมิถุนายน 2564
          2. รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างที่ติดเชื้อโควิด ได้รับการรักษาและไม่ถูกตัดสิทธิในการลาใดๆ จากนายจ้าง
         3. ค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิดรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
        4. ผู้ประกันตน ม.33 ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ต้องได้รับการเยียวยาผลกระทบจากโควิด เช่นเดียวกับแรงงานไทย เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
        5. รัฐต้องเยียวยาแรงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด ของรัฐ
6. ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 117 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน
        7. ยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง
       8. ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที
      9. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
    10. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
       ทั้งนี้หากรัฐบาล ไม่แก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานภายใน 1 เดือน จะกลับมาอีกครั้ง เพื่อทวงถามคำตอบความยุติธรรม ในข้อเรียกร้องดังกล่าว
        ทางด้านนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่าหลังได้รับหนังสือแลัว จะนำเสนอให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อนำเสนอรัฐบาล ซึ่งทางกระทรวงแรงงานนั้นมีนโยบายเชิงรุกต่างๆ ในสถานประกอบการภาคตะวันออกของเราอยู่แล้ว โดยแจ้งมาแล้ว 50 กว่าราย ท่านมีความห่วงใยในพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้ที่มีคุณค่าอยู่แล้ว โดยนำเสนอต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง มี 7 ประเด็น 22 ข้อย่อย โดยทั้งหมดเป็นสวัสดิการของแรงงาน ตามมาตราที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานนอกระบบด้วย

Subscribe
Advertisement