รมว.กระทรวงทรัพฯลงพื้นที่เกาะล้านดูแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมดำน้ำสำรวจแนวปะการังวางแผนจัดการ Sea Walker สั่ง “กรมทะเล” เร่งหารือทุกภาคส่วนวางเกณฑ์เข้ม เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

          จากกรณีที่มีตรวจพบกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จัดกิจกรรมเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล หรือ Sea Walker โดยมีการจับปะการังและสัตว์ทะเลขึ้นมาถ่ายภาพเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เร่งตรวจสอบและดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดดำเนินคดีทันที พร้อมหารือเมืองพัทยาแก้ไขปัญหาและหาแนวทางการจัดการเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงความสมบูรณ์นั้น
          ล่าสุดวันนี้ (3 เม.ย.64) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา ลงพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะล้านเพื่อตรวจดูสภาพด้านการท่องเที่ยวและการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเล็งเห็นว่าเกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ควรเร่งดำเนินการแก้ไข ซึ่งในหลายด้านเกี่ยวพันกับกระทรวงทรัพย์ฯ โดยเฉพาะกรณีของการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้มีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายวุฒิศักดิ์ สิงหเดโช นายอำเภอบางละมุง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและนำคณะเพื่อตรวจเยี่ยม
        โดยจุดแรกที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบคือระบบบำบัดน้ำเสียบนชุมชนบ้านเกาะล้าน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม และทะเลให้ปลอดจากปัญหามลพิษทางน้ำ ซึ่งจากการรับฟังรายงานพบว่าปัจจุบันเกาะล้านมีโรงบำบัดน้ำเสียในระบบการเติมสารชีวภาพบำบัด และผ่านระบบ RO จำนวน 2 แห่ง บริเวณชายหาดตาแหวน และชายหาดแสม ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ขณะที่การรองรับการบำบัดน้ำจากชุมชนกว่า 700 หลังคาเรือนยังไม่ได้ดำเนินการ โดยขณะนี้เมืองพัทยากำลังเร่งในการสำรวจ ศึกษา และออกแบบ เพื่อให้มีการจัดทำระบบที่ครอบคลุมพื้นที่เกาะล้านต่อไป

          จากนั้นคณะได้เดินทางไปสำรวจปัญหาการจัดการขยะบนเกาะล้าน ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับกรณีปัญหาขยะตกค้างเป็นจำนวนมากและยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ทางเมืองพัทยาชี้แจงว่าปัญหาขยะตกค้างของเกาะล้านเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2556 จากปัญหาเรือขนถ่ายชำรุดเสียหาย กระทั่งทำให้มีปริมาณขยะตกค้างสะสมมาจนถึงปัจจุบันกว่า 8 หมื่นตันที่ถูกกองทิ้งไว้บริเวณพื้นที่เขานม ในเนื้อที่กว่า 12 ไร่ ซึ่งเมืองพัทยาได้ทำการศึกษาแนวทางการแก้ไขและขออนุมัติการดำเนินการจากกระทรวงมหาดไทย กระทั่งปัจจุบันจะมีการประกาศผู้รับจ้างภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแล้วช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะใช้ระบบการเผาทำลายจากการก่อสร้างเตาเผาจำนวน 2 จุด ที่จะกำจัดขยะได้ในปริมาณวันละ 50 ตัน โดยหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะสามารถกำจัดขยะค้างเก่าและใหม่ที่เกิดขึ้นประมาณวันละ 20 ตัน ได้จนขยะเก่าหมดลงในระยะเวลา 3 ปี
          จากนั้นนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดิน ทางออกไปยังพื้นที่บริเวณอ่าวรอบนอก เพื่อดำน้ำดูสภาพแนวปะการังใต้ทะเล และการจัดกิจกรรม Sea Walker ของภาคเอกชนว่ามีความสมบูรณ์ หรือเกิดความเสียหายจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวขนาดไหน ทั้งนี้นายวราวุธ เปิดเผยว่าพื้นที่เกาะล้านถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองพัทยาและประเทศ โดยจากสถิติพบว่าก่อนปัญหาโควิด-19 เกาะล้านจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนกว่า 5 ล้านคน/ปี ดังนั้นการบริหารจัดการเรื่องของระบบสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างกรณีปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งทางกรมฯได้เสนอเมืองพัทยาไปว่าควรจะเผาทำลายขยะแต่ก็ควรนำพลังงานมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ปัญหาเรื่องของกฎหมายหรือประกาศกระทรวงฯที่ยังติดปัญหาอยู่ก็สามารถแก้ไขและปรับปรุงได้
           สำหรับกรณีของการประกอบกิจการ Sea Walker นั้น ได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายมองเห็นทรัพยากรทางทะเลสำคัญกว่าเรื่องของรายได้จากการท่องเที่ยว พร้อมกำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังได้หารือกับทางจังหวัดชลบุรี เมืองพัทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางในการจัดการ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการออกใบอนุญาตให้กับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและไกด์นำเที่ยวด้วย ซึ่งเรื่องนี้ได้ให้ความสำคัญมากเพราะมองว่า “ทรัพยากรปะการังและสัตว์ทะเลต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ หากวันนี้ทำให้เกิดความเสียหาย กว่าจะคืนกลับมาได้อาจต้องใช้เวลานับสิบปีทีเดียว” รวมทั้งให้เร่งวางแผนในการรองรับการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายด้วย

Subscribe
Advertisement