บุกจับเรือ Sea Walker พัทยา เปิดให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต กระทำการในพื้นที่แนวปะการัง หลังนักท่องเที่ยวแชร์โพสต์ภาพหยิบจับ เคลื่อนย้ายปะการังเกาะล้าน ขณะใช้บริการ สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

           เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 มี.ค.64 นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบปัญหาการประกอบการเรือการพาเดินชมท่องเที่ยวใต้ทะเล หรือ Sea Walker บริเวณอ่าวหน้าชุมชนบ้านเกาะล้าน ม.7 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังได้รับคำสั่งตรงจากนายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีความห่วงใยผลกระทบจากการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวในทะเลหรือ Sea Walker ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรในแนวปะการังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีนักท่องเที่ยวโพสต์ภาพผ่านสื่อโซเชียล ในกิจกรรมดังกล่าวที่ได้มีการเคลื่อนย้ายปะการัง ดอกไม้ทะเล และให้อาหารสัตว์น้ำ ซึ่งถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
          ทั้งนี้ จากการเข้าตรวจสอบพบเรือท่องเที่ยวขนาด 2 ชั้น ชื่อ ธ.ป๊อปอาย กำลังพานักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 20 คน สวมใส่อุปกรณ์ครอบศีรษะพาเดินชมแนวปะการังใต้ทะเล บริเวณหน้าหาดตายาย ชุมชนบ้านเกาะล้าน ห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร จึงแสดงตัวเข้าจับกุม พร้อมนำส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้แสดงตนเป็นผู้ดูแล และนำพาส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2526 พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามความผิดคือ 1. กระทำการในพื้นที่แนวปะการัง ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 12 ตามบทลงโทษในมาตรา 89 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2. การประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 17 ตามบทลงโทษตามมาตรา 27 โดยมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ขณะที่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีการแชร์ภาพลงในสื่อโซเชียลนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีโดยกล่าวหาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งการเคลื่อนย้าย หมายถึงการ “ล่า” หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่อย่างอิสระ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 89 หรือมาตรา 29 ที่กระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งต้องระวางโทษทั้งจำและปรับ
          นายภุชงค์ เปิดเผยว่า สำหรับกิจกรรมการเดินท่องเที่ยวใต้ทะเลหรือ Sea Walker มีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดโซนพื้นที่ และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของกระทรวงฯ และพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเรื่องของการกำหนดโซนนิ่งการท่องเที่ยวใต้ทะเลเพื่อลดความเสียหายต่อแนวปะการังตามธรรมชาติ รวมไปถึงกรอบของการปฏิบัติ กติกา คำสั่งห้าม อุปกรณ์การดำน้ำ ผู้ชำนาญการที่จะต้องมีประจำเรือ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 9 เมษายนนี้ ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ทั้งนี้ ด้วยเมืองพัทยาถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการประกอบกิจการเรือ Sea Walker เป็นจำนวนมาก หรือกว่า 23 รายในปัจจุบันที่นำนักท่องเที่ยวเดินชมแนวปะการังใต้ทะเล ขณะที่ชุมชนบ้านเกาะล้านนั้นจากการสำรวจพบว่ามีแนวปะการังในระดับสมบูรณ์ปานกลางในพื้นที่กว่า 700 ไร่ ตลอดรอบแนวเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปะการังโขด ปะการังกิ่ง และดอกไม้ทะเล แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ทำการแอบเคลื่อนย้ายแนวปะการังมาจัดเรียงไว้เป็นกองเพื่อให้นักท่องเที่ยวชมมากกว่า 70 กอง มีพื้นที่กองละประมาณ 70 ตร.เมตร รวมพื้นที่กว่า 4 ไร่ อาทิ หน้าหาดตายาย หาดทองหลวง หรือเกาะสาก เป็นต้น กรณีนี้ทาง นายวราวุธ ศิลปะอาชา รมต.ว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญและห่วงใยเป็นอย่างมาก ซึ่งจากนี้จะได้เร่งพิจารณาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังต่อไป

Subscribe
Advertisement