สภาเมืองพัทยาลงพื้นที่สำรวจโครงการระบบระบายน้ำเขาพระตำหนัก พบล่าช้ากว่ากำหนด 80 วัน เมืองพัทยาตั้งค่าปรับกว่า 90 ล้าน อีกทั้งผิว ค.ส.ล.ยังไม่สมบูรณ์ สั่งเร่งรัดแก้ไขก่อนตรวจรับมอบงาน

        เมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 นายชาคร กัญจนวัตตะ รองประธานสภาเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายธเนศ ศุภรสหัสรังสี และนายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร สมาชิกสภาเมืองพัทยา ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมท่อระบายน้ำพื้นที่เขาพระตำหนัก ทางลงโคซี่บีชพัทยา โดยมีนายอนุวัตร ทองคำ ผู้อำนวยการสำนักช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่สำนักการช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา ร่วมให้ข้อมูล

          ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าโครงการมีความคืบหน้าไปเกือบ 100% โดยจะมีความสมบูรณ์ในเรื่องของการการจัดวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ การฝังกลบ และการคืนผิวจราจรแล้ว แต่พบว่ายังคงมีปัญหาเรื่องของผิว ค.ส.ล.ที่ยังมีสภาพขรุขระหลุดร่อนตลอดแนวเส้นทาง ทางคณะกรรมการตรวจรับงานจึงได้สั่งการให้ผู้รับเหมาเร่งเข้ามาดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน ก่อนจะส่งงวดงานและตรวจรับเพื่อนำไปเบิกจ่ายงบประมาณในงวดสุดท้ายต่อไป
          นายอนุวัตร ทองคำ ผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา เปิดเผยว่า โครงการนี้จะเป็นการก่อสร้างวางท่อระบายน้ำในงบประมาณกว่า 93,000,000 บาท ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 13 มกราคม 2563 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 570 วัน โดยจะเป็นโครงการที่มีการจัดวางท่อระบายน้ำ 2 เส้น คือระบบน้ำดีหรือท่อระบบน้ำฝน และน้ำเสียที่รับจากบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ที่แยกออกจากกัน ทั้งนี้เพื่อรับปริมาณน้ำจากฝั่งบนเขาพระตำหนักให้ไหลมารวมกันก่อนส่งต่อเข้าสู่ระบบปั๊มน้ำบริเวณหน้าสโมสรเรือใบราชวรุณฯ ก่อนจะสูบส่งไปยังโค้งดงตาล และระบายต่อไปยังบ่อบัดน้ำเสียซอยวัดบุณย์กัญจนาราม ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังที่เป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องบนพื้นที่เขาพระตำหนักได้เป็นอย่างดี แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาโครงการนี้มีผู้รับเหมาดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนดนานกว่า 80 วัน เมืองพัทยาจึงต้องดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย ในอัตราเฉลี่ยกว่าวันละ 16.8 ล้าน หรือรวมแล้วกว่า 90 กว่าล้านบาท
          อย่างไรก็ตามจากปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ทางผู้รับเหมาแจ้งว่าเกิดจากกรณีของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีผลไปถึงเรื่องของแรงงานต่างด้าว และการสั่งซื้ออุปกรณ์ในการก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้ทางผู้รับเหมาได้ยื่นอุทธรณ์มายังเมืองพัทยาเพื่อทบทวนและปรับลดค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบปรับแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตามจากการตรวจรับงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จพบว่าผิวจราจรแบบ ค.ส.ล.ที่ฝังกลบแนวท่อตลอดเส้นทางมีหลายจุดที่สภาพของคอนกรีตไม่ได้คุณภาพ มีการหลุดร่อน จึงได้สั่งการให้ทำการแก้ไขเร่งด่วน โดยการขุดเจาะและปูผิวจราจรใหม่ จากนั้นจึงจะได้มาทำการตรวจสอบและตรวจรับงานอีกครั้งต่อไป
Subscribe
Advertisement