8 องค์กรภาคธุรกิจท่องเที่ยวจี้รัฐเสนอ 6 มาตรการเร่งเยียวยาหลังพัทยาเป็นเมืองร้าง ระบุโควิดระลอก 2 คอรัปชั่นต้นตอสำคัญที่รัฐต้องรับผิดชอบ เลี่ยง Lockdown ผลักภาระผู้ประกอบการ

          วันนี้ (9 ม.ค.64) ที่โรงแรมแบล็ควู้ด พัทยา ซอย 7 อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวรวม 8 องค์กรเปิดแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับกรณีปัญหาผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในระลอกที่ 2 นี้ส่งผลอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการเกือบทุกประเภทในพื้นที่เมืองพัทยาไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และต้องปิดตัวลงไปแล้วกว่า 80% ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่รุนแรงจนรัฐประกาศให้เป็นพื้นที่สีเลือดหมูร่วมกับอีก 4 จังหวัด ที่ต้องมีการคุมเข้มในการเดินทางเข้าออกและขนย้ายแรงงาน พร้อมงดการจัดกิจกรรมและให้มีการปิดกิจการตามมาตรการของรัฐ จนทำให้ปัจจุบันพัทยาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักกลายเป็นเมืองร้างที่มียอดนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระและช่วยเหลือตัวเอง โดยรัฐไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาหรือดูแลแต่อย่างใด บอกแต่เพียงหากมีการ Lock Down ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเหมือนเป็นการเลี่ยงและผลักภาระให้ผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว
            นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับกรณีของการติดเชื้อในระลอกแรกช่วงต้นปี 2563 ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะมีการติดเชื้อมาจากประเทศจีน และครั้งนั้นรัฐก็มีมาตรการเข้มข้นจนสถานการณ์ดีขึ้น รวมทั้งยังเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการสั่งปิดกิจการและให้เงินชดเชยแก่พนักงานในอัตรา 62% ของเงินเดือน เป็นเวลา 3 เดือน การลดภาษี ค่าธรรมเนียมสาธารณูปโภค จนปัญหาเริ่มคลี่คลาย มีการออกมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศหลายโครงการอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือ “พัทยาฮอทดีล” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก รวมทั้งการจัด Event ของพื้นที่ ซึ่งก็พอจะทำผู้ประกอบการประคับประคองไปได้บ้าง เพื่อรอวันกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง แต่แล้วในช่วงปลายปี 63 ที่ผ่านมากลับเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศ ซึ่งปัญหานี้คงตอบได้ว่ามาจาก “การคอรัปชั่น” หรือ “การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะมีการแพร่ระ บาดอย่างหนักมาจาก “บ่อนพนัน” และ “การขนย้ายแรงงานเถื่อน” ที่รัฐปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบเรื่องนี้มีการเรียกรับผลประโยชน์กันจนเป็นปัญหาตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้รัฐควรรับผิดชอบและให้ความสำคัญในการเยียวยาและดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ของ 5 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อันตรายและสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพราะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศด้านการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

            นายธเนศ กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เมืองพัทยากลายเป็นเมืองร้าง ด้วยนักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางเข้ามาพักผ่อน เพราะแม้รัฐจะพยายามเลี่ยงไม่ให้มีการ Lockdown โดยระบุว่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น แท้จริงแล้วเศรษฐกิจที่เป็นอยู่มันพังพินาศและเดินต่อไปไม่ได้อยู่แล้ว ด้วยจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ แต่รัฐกลับไม่มีมาตรการที่จะเข้ามาดูแลหรือเยียวยา กลับผลักภาระให้ผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว จนขณะนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวมต้องปิดกิจการไปแล้วกว่า 70-80% ส่วนแรงงานต่างๆ ก็ต้องรับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการว่างงานอีกนับหมื่นราย
         ขณะที่นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ระบุว่าที่ผ่านที่ผู้ประกอบการพยายามทำตัวเป็น “เด็กดี” ที่ปฏิบัติตนตามมาตรการของรัฐอย่างเข้มข้น แต่รัฐกลับไม่เหลียวแลหรือให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปผู้ประกอบการที่มีความจำเป็น อาจต้องทำตัวเป็น “เด็กดื้อ” ด้วยการจัดกิจกรรมส่ง เสริมหรือทำทุกหนทางเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อน เพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวไปได้ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้นแต่อาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
           ตอนนี้ 8 องค์กรภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ทำหนังสือยื่นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี เพื่อเสนอขอให้สั่งปิดกิจการโรงแรมในเขตเมืองพัทยา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิ์ในการรับเงินชดเชยค่าแรงตามกฎหมายใหม่ของกระทรวงแรงงาน เพราะการปิดกิจการเองโดยรัฐไม่มีคำสั่งจะไม่มีสิทธิ์ในการได้รับเงินชดเชยเหมือนเดิม ซึ่งแม้ว่าจะมีการปรับลดการชดเชยลงเหลือเพียง 50 % ของรายได้ในอัตราไม่เกิน 15,000 บาท แต่ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือในช่วงที่เกิดวิกฤตรุนแรงจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาไปจนถึงปี 2565
           ทั้งนี้หนังสือที่ยื่นเสนอต่อภาครัฐมีขอรับความช่วยเหลือ 6 มาตรการหลัก ประกอบด้วย 1. ขยายเวลากองทุนประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนลูกจ้างไปอีก 200 วัน 2. ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% 3. ลดหย่อนค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ต่อไปถึงสิ้นปี 2564 4. ยกเว้นอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่โดยให้เก็บค่าใช้จ่ายตามจริง 5. ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ และค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักในโรงแรม และ 6. ออกมาตรการขยายเวลาการพักชำระหนี้ โดยไม่เก็บดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการไม่มีรายได้ รายรับใดๆ และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
Subscribe
Advertisement