รองปลัดเมืองพัทยาลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาเกาะล้านสู่การเป็น NEO เกาะล้าน พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาเสาเข็มสปันยึดทุ่นเทียบท่าเรือเร็วรับ-ส่งประชาชนและนักท่องเที่ยวพังเสียหายจากพายุคลื่นลม

            เมื่อวันที่ 9 พ.ย.63 นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายณัฐพงษ์ แสนทวีสุข ผู้อำนวยการสำนักการช่างเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่สำนักการช่างเมืองพัทยา ลงพื้นที่เกาะล้าน เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเสาเข็มสปันยึดทุ่นท่าเทียบเรือเร็วรับส่งประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ป่วยบริเวณหาดตาแหวน ได้รับความเสียหายจากคลื่นลม และการพัฒนาเกาะล้านสู่การเป็น NEO เกาะล้าน หรือเกาะล้านโฉมใหม่ หลัง EEC เลือกให้เป็นพื้นที่ในแผนของการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวทางทะเลของภาคตะวันออก ร่วมกับเกาะสีชังและเกาะเสม็ด
           นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เปิดเผยว่า หลังจากได้รับมอบนโยบายจากนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ในการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาเกาะล้านสู่การเป็นเป็น NEO เกาะล้าน หรือเกาะล้านโฉมใหม่ โดยได้เน้นย้ำเรื่องของการทำความสะอาดในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลัก ๆ รวมไปถึงแหล่งชุมชนของเกาะล้าน ให้มีความสะอาดและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวได้รับความประทับใจ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ บนเกาะล้านพบว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน ได้มีการดำเนินการตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายไปแล้ว พร้อมจะนำปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานไปรายงานให้ฝ่ายบริหารได้รับทราบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันต่อไป
            นอกจากการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เกาะล้านแล้ว ยังเป็นการลงพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องของเสาเข็มสปัน คอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ยึดทุ่น HDPE ท่าเทียบเรือเร็วรับ-ส่ง ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ป่วย บริเวณหาดตาแหวน ในโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหาดตาแหวน ติดตั้งทุ่นท่าเทียบเรือ เกาะล้าน เมืองพัทยา ที่ได้มีการดำเนินการมาแล้วประมาณ 2 ปี ได้รับความเสียหายจากคลื่นลมพายุ ทำให้เสาเข็มที่ล็อคทุ่นดังกล่าวไว้หัก จึงเร่งติดตามแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยทุนดังกล่าวยังอยู่ในระยะประกันกับผู้รับจ้าง ทั้งนี้หลังจากที่ได้มีการหารือรับผู้รับจ้างก็พร้อมจะดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม
          นายเกียรติศักดิ์ เปิดเผยต่ออีกว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขเสาเข็มยึดทุ่นดังกล่าวนั้นมี 2 แนวทางเลือก คือ 1. ใช้แบบเดิมที่ได้มีก่อสร้างตามที่ได้ออกแบบไว้ และ 2. ติดตั้งเสาเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร แผ่นเหล็กมีความหนา 9-12 มิลลิเมตร เทคอนกรีตลงไปในแผ่นเหล็กแล้วนำมาติดตั้งความยาว 20 เมตร ซึ่งแนวทางที่เมืองพัทยาและเจ้าหน้าที่สำนักการช่างได้เสนอ ทางผู้รับจ้างจะต้องนำไปพิจารณาในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเปรียบเทียบกับแบบเดิมที่ได้ดำเนินการตามสัญญากับแบบใหม่ว่าค่าใช้จ่ายมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด หากไม่แตกต่างและการดำเนินการตามทางเลือกที่เมืองเสนอมีความคงทนแข็งแรงกว่า ก็พร้อมจะดำเนินการต่อไป

Subscribe
Advertisement