“อรุณี ห่อทองคำ” รองประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนนาเกลือ แชร์เรื่องเล่าบ้านนาเกลือเป็นฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมให้แก่องค์กรสื่อสารด้านการขยะ

           (30 ต.ค.63) น.ส.อรุณี ห่อทองคำ รองประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนนาเกลือ ได้เปิดโอกาสพูดคุยและสนับสนุนข้อมูล พร้อมเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านนาเกลือให้กับทางคณะทำงานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ โดยนายเก่ง ณ สงขลา เลขาธิการองค์กรฯ ที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงในการทำงานขององค์กรฯ และได้นำไปพูดคุยและทำความรู้จักกับผู้อาวุโสในชุมชนตลาดเก่านาเกลือ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ตลอดจนพาเดินเท้าเยี่ยมชมวิถีชุมชน ทั้งการออกเรือเพื่อทำประมงท้องถิ่น ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนที่เคยผ่านประสบการณ์ในยุคบุกเบิกของการทำโรงแรมเมืองพัทยาในอดีตมาแล้ว รวมทั้งพื้นที่ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาไว้มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อจะได้รวบรวมเป็นฐานข้อมูลเอาไว้ปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรฯ และสาธารณชน
          โดยการลงพื้นที่พูดคุยและเก็บข้อมูลในครั้งนี้ของทีมงานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ Rubbish Communication เป็นการลงพื้นที่ปฏิบัติงานด้วยหลักการคล้ายกับการทำวิจัยเชิงคุณภาพแบบเสมือนจริงที่ต้องการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์กับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างเห็นภาพจากบริบทโดยรวมที่มาจากหลากมิติและหลายมุมมอง
           น.ส.อรุณี รองประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนนาเกลือ ได้ให้ข้อมูลในฐานะบุตรสาวของนายอาณะ ห่อทองคำ หรือ ผู้ใหญ่ณะ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.นาเกลือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านคนสุดท้ายก่อนเปลี่ยนจากสุขาภิบาลนาเกลือมาเป็นเมืองปกครองพิเศษชื่อเมืองพัทยาในปัจจุบัน โดยบ้านนาเกลือนั้นอดีตเป็นชุมชนชาวประมงท้องถิ่น สมัยก่อนจะพบว่าหาดนาเกลือมีปูจั่นเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน
            ส่วนที่มาของชื่อบ้านนาเกลือนั้น คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ได้สันนิษฐานให้ฟังว่า น่าจะมีความเป็นไปได้อยู่ 3 สมมุติฐาน คือ 1. ในอดีตนั้นเคยมีบ้านที่ทำนาเกลืออยู่ในพื้นที่แห่งนี้ แต่ก็พบว่ามีเพียงหลังเดียวเท่านั้นในหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพนี้ เพราะพื้นที่บ้านอยู่ในเขตชายทะเล เมื่อน้ำทะเลลดก็จะพบเศษเกลือระยิบระยับ และเจ้าของบ้านเองก็ทำอาชีพนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงอาจเป็นที่สนใจและเป็นชื่อเรียกของบ้านนาเกลือ
          2. มาจากคำว่า หน่ากั๋ว ซึ่งหมายถึงใบพัดของเรือสำเภาจีน ในสมัยนั้นมักมีเรือสำเภาจากจีนมาเทียบท่าที่อ่าวนาเกลือ และชาวบ้านก็พากันไปจำหน่ายสินค้า และอาหารทะเล เพื่อสร้างรายได้ แต่ด้วยความที่ออกเสียงไม่เหมือนต้นฉบับ จึงทำให้เพี้ยนเป็นนาเกลือในที่สุด และ 3. มาจากคำว่า น่ากลัว เนื่องด้วยในสมัยก่อนแต่ละบ้านจะมีชายหนุ่มประจำหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านหนองเกตุ บ้านหนองปลาไหล ก็มักจะเดินทางมาเที่ยวที่บ้านนาเกลือ เนื่องด้วยผู้หญิงที่บ้านนาเกลือหน้าตาดี แต่ผู้ชายที่บ้านนาเกลือแห่งนี้ก็ขึ้นชื่อเรื่องของความดุและความเป็นนักเลงไม่ยอมคน ประกอบกับในสมัยนั้นยังไม่มีแสงสว่างและการเดินทางมายังบ้านนาเกลือก็เป็นแบบทางเกวียนที่มีความยากลำบาก จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเรียกบ้านน่ากลัวมาก่อนเป็นบ้านนาเกลือ ซึ่งทั้ง 3 สมมุติฐานนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเป็นเพียงเรื่องเล่าบอกต่อกันมาเท่านั้น
            รองประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนนาเกลือ เล่าต่ออีกว่า ถ้ามองย้อนกลับไปถึง 100 ปี ตลาดบ้านนาเกลือถือได้ว่าเป็นตลาดแห่งแรกของอำเภอบางละมุง ทำให้ชาวบ้านจากตำบลและหมู่บ้านต่าง ๆ ต้องมาหาจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการที่ตลาดแห่งนี้ จะเห็นได้จากระบบการขนส่ง ที่รถโดยสารในอดีตจะต้องมาจบสถานีปลายทาง ณ ที่แห่งนี้ หรือเป็นสถานีต้นทางไปยังพื้นที่เขตอื่น ๆ ต่อไปด้วยเช่นกัน จึงเชื่อว่าในอดีตบ้านนาเกลือเป็นเสมือนศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ก่อนจะมีการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ เพื่อขยายและปรับผังเมืองให้สอดรับกับยุคสมัยที่บ้านเมืองและประเทศชาติมีการพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง
            นอกจากนี้จากการพูดคุยกับผู้อาวุโสในชุมชนได้ข้อมูลด้วยว่า ในอดีตชายหนุ่มบ้านนาเกลือจะออกเรือไปทำประมงกันเป็นส่วนมาก ซึ่งเรือประมงก็จะไม่มีเครื่องยนต์เหมือนในตอนนี้ จะเป็นการใช้แรงลมผ่านใบเรือเพื่อบังคับทิศทางในการแล่นเรือออกเดินทาง ในสมัยที่ญี่ปุ่นมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลา กลุ่มวัยรุ่นบ้านนาเกลือก็จะนำข้าวสารขึ้นเรือใบและออกแล่นเรือฝ่าคลื่นทะเลเพื่อไปยังชายฝั่งจังหวัดสงขลาเพื่อขายต่อให้ผู้คนฝั่งโน้น รวมไปถึงการเดินทางไปยังเกาะล้านที่เป็นปกติวิสัยของคนสมั้ยนั้น ทำให้มีการไปมาหาสู่กันเป็นว่าเล่น จนกลายเป็นว่าคนบ้านนาเกลือและคนบ้านเกาะล้านคือพี่น้องกัน แสดงให้เห็นได้ว่าบ้านนาเกลือสมัยก่อนมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตก่อนมาเป็นเมืองพัทยาได้อย่างไร
           และช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประมาณช่วงสงครามเวียดนาม พ่อค้าและแม่ค้าบ้านนาเกลือถือว่ามีรายได้ดีมาก ๆ เนื่องจากทหารอเมริกันมาตั้งเบสท์แคมป์ทหารอยู่ที่อู่ตะเภา สัตหีบ และสันนิษฐานว่าทหารอเมริกันนี่เองที่เป็นผู้ค้นพบชายหาดพัทยา เนื่องด้วยหลังจากทำการฝึกซ้อมแล้วมีเวลาเดินทางไปพักผ่อนตามชายหาดต่าง ๆ หรือมีการตั้งเต็นท์สำรวจพื้นที่ทางทหารจนมาพบชายหาดพัทยาในที่สุด เพราะจำได้ว่าตอนเด็ก ๆ นั้น คนนาเกลือจะนิยมนั่งรถไปเที่ยวชายหาดบางแสนเพราะชายหาดพัทยายังไม่เป็นที่รู้จัก ก่อนจะมีชาวบ้านเห็นทหาร และทหารได้ว่าจ้างให้ทำอาหาร และมีการพัฒนาเป็นการให้บริการและรับจ้างต่าง ๆ ตามที่กลุ่มทหารดังกล่าวร้องขอเพื่อแลกกับค่าจ้าง และขยายจนกลายเป็นธุรกิจต่าง ๆ กับชาวต่างชาติ จนมีเมืองพัทยาในปัจจุบัน
            และหลักฐานยืนยันที่ทำให้เรื่องนี้ดูมีน้ำหนักคือพยานบุคคล ซึ่งเป็นเพื่อนชาวอเมริกัน ที่เคยเล่าว่าในสมัยวัยหนุ่มได้เคยเป็นทหารสมัยสงครามเวียดนามและเดินทางมาที่เมืองพัทยาแห่งนี้ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นชายทะเลที่มีความสงบและสวยงาม เม็ดทรายขาวละเอียด สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและชายฝั่งทะเลยังมความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมือนกับในขณะนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากจนแทบจะจำภาพในอดีตสมัยที่ยังเป็นทหารไม่ได้เลย และด้วยการพัฒนาที่มีความเปลี่ยนแปลงทำให้หลายคนต้องปรับเปลี่ยนสัมมาอาชีพ แต่ด้วยฐานข้อมูลของบ้านนาเกลือ ในฐานะคนพื้นที่ที่ได้จดจำและรวบรวมบันทึกในความทรงจำมาโดยตลอด ทำให้สามารถปรับใช้กับอาชีพในปัจจุบันที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวิถีชุมชนด้วยเช่นกัน
Subscribe
Advertisement