สานภารกิจ “NEO เกาะล้านโฉมใหม่” ผุดโครงการกว่า 300 ล้าน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สาธารณูปโภค แก้ไขปัญหาหมักหมม สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน หวังเป็นหนึ่งศูนย์กลางการท่องเที่ยว EEC

             ​นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญจากนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ให้ลงมาสำรวจสภาพปัญหาบนพื้นที่เกาะล้าน เพื่อทำการพัฒนาแก้ไข ปรับปรุง และสร้างความปลอดภัย รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ด้วยเกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองพัทยาที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาพักผ่อนเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาที่ยังค้างคาหมักหมม หรือยังไม่ได้รับการพัฒนา ทั้งนี้เพื่อทำให้เกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบหรือ “NEO เกาะล้านโฉมใหม่” สมกับที่ถูกยกให้เป็น 1 ใน 3 เกาะที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของ EEC ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ายังคงมีปัญหาที่ต้องเข้ามาดำเนินการจัดการหลายด้าน อาทิ อาคารสำนักงานแขวง อุปกรณ์ เครื่องมือการทำงานที่ต้องพัฒนาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ เรื่องของสิ่งแวดล้อม อย่างน้ำเสีย ขยะ เรื่องของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกัน ที่สำคัญคือเรื่องของความปลอดภัยทั้งทางบกและทางทะเลด้วย
              ด้านนายณัฐพล ธีรวุฒิวรเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน เปิดเผยว่า เมืองพัทยาให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่เกาะล้านเป็นอย่างมาก จึงทำการศึกษา สำรวจ และตั้งโครงการเพื่อดำเนินการอย่างจริงจังภายในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 นี้ หลายโครงการสำคัญด้วยกันที่จะจัดทำซึ่งใช้งบประมาณอุดหนุนรวมกว่า 300 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่แผนการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และพัฒนาจัดทำโครงการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั่วทั้งพื้นที่เกาะล้าน ซึ่งจะเป็นการปรับเส้นทางให้มีความปลอดภัย เชื่อมโยงได้ทั้งเส้นทางเก่าที่จะปรับปรุง และการจัดทำเส้นทางใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการท่องเที่ยว โดยขณะนี้ได้รับงบอุดหนุนในปีงบประมาณ 2564 แล้ว และกำลังดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจัดทำต่อไป
               อีกโครงการที่สำคัญคือเรื่องของความปลอดภัยบนพื้นที่เกาะล้าน ซึ่งแต่เดิมมีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดหรือ CCTV ไว้แล้วจำนวน 36 จุด แต่ด้วยไม่มีระบบป้องกันการกัดกร่อนของไอเค็มของทะเลจึงทำให้ระบบได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้เกือบ 100% โครงการนี้เสนอของบประมาณอุดหนุนแล้วเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะทำการปรับเปลี่ยนกล้องที่มีคุณภาพ และมี TOR กำหนดให้สามารถป้องกันไอเค็มจากน้ำทะเลได้ ก็จะเพิ่มการติดตั้งในจุดเสี่ยง และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งหมด อย่างหาดตาแหวน หาดแสม หาดทองหลาง หาดเทียน หรือหาดหน้าบ้าน เป็นต้น รวมทั้งยังมีระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อสร้างความอุ่นใจให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย
                นายณัฐพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างปัญหาน้ำเสีย ขณะนี้ได้รับงบประมาณอุดหนุนในปี 2563 แล้วเพื่อศึกษา วางแผน และออกแบบในการบำบัดใหม่ ซึ่งอาจจะมีการแยกระบบของน้ำเสียและน้ำฝนแยกออกจากกัน โดยจะมีการพัฒนาระบบเดิมให้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมและลดปัญหาได้เป็นอย่างดี
             นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณอุดหนุนปี 2563 อีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาสะพานท่าเทียบเรือหาดตาแหวนที่กรมโยธาธิการดำเนินการจัดสร้างไว้ตั้งแต่ปี 2535 หรือกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่าโครงสร้างของตัวสะพานมีความชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุง แก้ไขและซ่อมแซมอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้กำลังมีการเรียกเซ็นสัญญากับผู้รับจ้างเพื่อให้เข้ามาเร่งรัดในการสำรวจและทำการซ่อมบำรุงแล้ว ขณะที่สะพานท่าเทียบเรือหน้าบ้านนั้นที่ผ่านมาทาง อพท.มาดำเนินการสำรวจ ศึกษา และออกแบบการก่อสร้างไว้แล้ว แต่ปรากฏว่ายังติดปัญหาเรื่องของการขอ EIA เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องติดข้อกฎหมายสิ่งแวดล้อม เรื่องขนาดสิ่งปลูกสร้าง อย่างตอม่อที่มีขนาดไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ หรือพื้นที่ใช้สอยของสะพาน ทำให้โครงการนี้ต้องมอบหมายให้กรมเจ้าท่าไปแก้ไขแบบและนำเสนอเพื่อพิจารณาด่วน แต่เพื่อกันงบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจำนวน 128 ล้านบาทจะตกไป จึงได้โยกงบบางส่วนไปพัฒนาสถานีอนามัย และท่าเทียบเรือขึ้นลงเพื่อรับส่งผู้บาดเจ็บด้วยความปลอดภัย แต่หลังจากที่ EIA ของสะพานผ่านความเห็นชอบก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของพัสดุเพื่อจัดซื้อ จัดจ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการอีกครั้ง
              สุดท้ายกับอีก 2 โครงการหลักคือการปรับภูมิทัศน์หาดตาแหวน เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้เกิดความสวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาการประกวดราคาและคงจะสามารถลงนามเซ็นสัญญาว่าจ้างได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ อีก 1 โครงการคือการสำรวจเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ดินสาธารณะของเมืองพัทยาขนาด 320 ไร่ บริเวณหาดแสม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่ง เพื่อปรับปรุงสภาพของชายหาด อาคารรับรอง และอื่นๆ ให้เป็นชายหาดที่กลับมามีความสวยงาม ลดความสกปรกรกรุงรังและการใช้พื้นที่อย่างไม่สมประโยชน์
              นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้ายว่ายังมีเรื่องของการติดตามการจัดการขยะด้วยระบบ PPP ให้เอกชนลงทุนในการสร้างเตาเผาขยะไร้มลพิษจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยใน TOR กำหนดไว้ว่าต้องจัดทำเตาผาจำนวน 2 เตา ที่กำจัดขยะได้ปริมาณ 25 ตัน/วัน/เตา หรือ 50 ตัน/วัน โดยขั้นแรกเป็นการเร่งนำขยะค้างเก่ามีกำจัดซึ่งคาดว่าใช้ระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตามกรณีนี้ยังติดปัญหาเนื่องจากการลงทุนเป็นการเผาทำลายขยะวันละ 50 ตัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไปจำหน่าย แต่หากขยะค้างเก่าหมดภายใน 2 ปี ปริมาณขยะบนพื้นที่เกาะล้านจะอยู่ที่ 20 ตัน/วันเท่านั้น จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

               นอกจากนี้ยังมีแผนการติดตามโครงการที่ก่อสร้างที่ถูกปล่อยทิ้งร้างอย่างอาคารปลากระเบน และโครงการกังหันลม ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้สามารถนำมาจัดทำประโยชน์ได้ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดของ EAST WATER ที่ต้องการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำให้เพียงพอกับความต้องการ โดยจะมีการควบคุมเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมด้วย

Subscribe
Advertisement