ปิดทองหลังพระฯ จับมือ 8 ภาคีเครือข่าย จัดต่อเนื่อง เวทีคิดใหม่ ไทยก้าวต่อ ภาคตะวันออก ระดมความคิด เร่งหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวพื้นที่ EEC ก่อนนำเสนอรัฐ พ.ย.นี้

            ที่ โรงแรมอมารี พัทยา จ.ชลบุรี เวที คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ เปิดเวทีสาธารณะภาคตะวันออก เดินสายรับฟังความคิดเห็น เพื่อรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากสถาบันราชการชั้นนำ ภาคธุรกิจ และประชาชน เพื่อหาแนวทางนำประเทศไทยผ่านวิกฤตและพัฒนาอย่างยั่งยืน หลังไทยถูกผลกระทบจากสถานการณ์โลก-วิกฤตโควิด-19 ก่อนจะนำเสนอต่อรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนนี้ ภายใต้ความร่วมมือของ 8 องค์กร ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้า เป็นผู้ประสานงานโครงการ โดยได้มีการจัดประชุมโต๊ะกลม ระดมความคิดเห็น สรุปสถานการณ์ เศรษฐกิจ สภาพปัญหา อุตสาหกรรม การค้า สังคมในพื้นที่ภาคตะวันออก
              นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของสถาบันฯ คือการทำให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้กรอบความคิดหลักของโครงการคิดใหม่ ไทยก้าวต่อ คือวิเคราะห์บริบทของสังคมโลกและประเทศไทย ในช่วงก่อนและหลังวิกฤตโควิด-19 ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ส่งผลกระทบอะไรตามมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และวางโมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยฝ่าวิกฤตครั้งนี้
             ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าเดือนมิถุนายนจะค่อยปรับตัวดีขึ้นแต่ไม่เท่าปี 2562 หากยังต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกและการพึ่งการท่องเที่ยว อีกทั้งพบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 และเสี่ยงทำให้แรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ตกงานสูง และภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งจากสถิติพบปี 2563 มีแรงงานตกงานถึง 7 แสนคน แม้การกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐนั้นยังไม่ช่วยเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้นได้ การกระตุ้นของภาครัฐจะต้องรับฟังนโยบายของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก เพราะแต่ละพื้นที่ต้องการนโยบายในการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต่างกัน
              ด้าน ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาคตะวันออก จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม อีกทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้าส่งผลให้โครงการลงทุนของภาครัฐที่เป็นการลงทุนใหม่ต้องเลื่อนระยะเวลาการเบิกจ่ายออกไป บั่นทอนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจจนทำให้ภาคเอกชนบางส่วนชะลอการลงทุน ทั้งนี้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และจากการที่มีการปิดเมืองในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวสูง รวมทั้งผลกระทบการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะสูง และ E-Commerce ที่ทำให้ต้นทุนผู้ผลิตลดลง แต่ก็ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรง ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น สำหรับขอเสนอในการกระตุ้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาคตะวันออก คือต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะทำให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องและการจ้างงาน อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เน้นกระตุ้นอุปสงค์ และการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของภาคตะวันออก รวมทั้งให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และให้ บสย.เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท.5 แสนลานบาทต่อ หลังจากหมดพ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ควรออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มตาม เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนแนวทาง F.T.I. Fast Payment เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้มีสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยชำระหนี้ให้กับคู่ค้าภายใน 30 วัน หรือเร็วกว่า
             ขณะที่นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า หลังรัฐบาลได้มีการคลายล็อค พื้นที่จังหวัดชลบุรีได้รับอนิสงส์จาการท่องเที่ยวหากเทียบกับเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ บ้าง แต่ยังประสบปัญหา ด้วยเป็นพื้นที่กลุ่มตลาดหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเมืองพัทยา ซึ่งรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หอการค้าจังหวัดชลบุรีจึงมองว่ารายได้ที่สำคัญที่สุดมาจากผู้ประกอบการ SME ในจังหวัด หากผู้ประกอบการ SME มีการขายสินค้าได้จะทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเข้มแข็งได้ หากภาครัฐสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SME ในพื้นที่ในการสร้างรายได้จะสามารถส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ได้ นอกจากนี้หอการค้าจังหวัดชลบุรี ยังได้มีการส่งเสริมในเรื่องของการทำนวัตกรรมในการเพิ่มรายได้จาการค้าขายในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปและสถานการณ์โควิดที่เข้ามา การขายสินค้าการเกษตรอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการเพิ่มนวัตกรรมเข้าไปก็จะถูกกดราคา จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถต่อยอดการขายสินค้าที่มีอยู่ได้และสามารถสร้างมูลสินค้าได้ เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนเปลี่ยนของโลกในอนาคตต่อไปได้

Subscribe
Advertisement