รองนายกเมืองพัทยาเผยเหตุน้ำท่วมชายหาดมาจากหลายปัจจัย ทั้งขยะ น้ำทะเลหนุน พร้อมนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไขอย่างเร่งด่วนแบบถาวร

            นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา แจงสาเหตุน้ำท่วมไหลบ่าลงบนพื้นที่ชายหาดพัทยาจนได้รับความเสียหายจากกรณีฝนตกอย่างหนักในช่วงคืนวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะมีการตั้งข้อสงสัยว่าเมืองพัทยาได้ก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชายหาดพัทยาไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณชายหาดในระยะทาง 2,700 เมตร ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ทำไมยังเกิดปัญหาขึ้นนั้น ส่วนตัวมองว่าด้วยปริมาณฝนที่ตกหนักและตกต่อเนื่องนานถึง 6 ชม.ในวันดังกล่าว ต้องยอมรับว่าท่อระบายน้ำขนาด 1.80 เมตร ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จไปนั้นคงไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ไหลบ่าลงมาจากฝั่งตะวันออกได้ เนื่องจากมีจำนวนมาก โดยหากจะรับมวลน้ำให้ได้ทั้งหมดคงต้องจัดทำเป็นอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ 4-5 เมตร อีกทั้งคงจะต้องมีการต่อท่อระบายน้ำฝนลงสู่ทะเลโดยตรง เพื่อลดปริมาณน้ำในท่อที่มีปริมาณมากจนทะลักขึ้นบนถนนและไหลบ่าลงสู่ชายหาด เพราะการระบายน้ำปัจจุบันมีทางลงเพียงทางเดียวคือที่สถานีสูบน้ำบริเวณปากทางพัทยาใต้วอล์คกิ้งสตรีท
            ในอนาคตหากมีฝนตกหนักต่อเนื่องและมีปริมาณน้ำที่มากเหมือนที่ผ่านมา คงจะต้องมีการพึ่งพาแผนการจัดทำอุโมงค์น้ำตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกแบบไว้ ด้วยปัจจุบันท่อระบายน้ำของเมืองพัทยานั้นยังมีลักษณะเป็นท่อเก่าที่ต่อเชื่อมมาลงชายหาด มีขนาดเล็ก ขณะที่ท่อระบายใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่มีน้ำไหลบ่าภายในจำนวนมากจึงทำให้น้ำที่รับมาจากฝั่งบนไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่ท่อระบายได้จนเกิดการเอ่อล้นขึ้น และการระบายน้ำก็ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวคงจะต้องมีการศึกษาแก้ไขปัญหากันต่อไป อีกทั้งต้องเร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกคลองสาธารณะอย่างคลองพัทยาใต้ จนทำให้ปากคลองคับแคบ น้ำไม่สามารถระบายได้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการลักลอบปล่อยน้ำเสีย รวมทั้งขยะมูลฝอยจากประชาชนบางกลุ่มที่ได้จิตสำนึกที่ดี จึงต้องกักน้ำไว้ก่อนเพื่อป้องกันน้ำเสียและขยะมูลฝอยระบายลงสู่ทะเล
             นายพัฒนา รองนายกเมืองพัทยา แจงต่ออีกไปว่า อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังและการระบายน้ำมีประสิทธิภาพที่ลดลง คือ ขยะมูลฝอย ที่พบว่าทุกครั้งจะมีปริมาณมากที่ไหลปิดกั้นขวางแนวตะแกรงของท่อระบายน้ำหลักในหลายจุด ทั้งสถานีสูบ ท่อระบายน้ำ ตะแกรงบนผิวจราจร และอื่นๆ จนน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้สะดวก น้ำจึงเอ่อล้นขึ้นท่วมบนพื้นที่ฝั่งผิวจราจร ซึ่งเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบการทำตะแกรงบริเวณสถานีสูบน้ำเป็น 2 ชั้น ป้องกันขยะขวางกั้นน้ำบนแนวตะแกรงของท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ในช่วงตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนนั้นเป็นช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูงช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว หากมีฝนตกหนังต่อเนื่องมวลน้ำที่จะไหลลงสู่ทะเลก็จะช้าลง ด้วยเกิดจากแรงต้านของน้ำทะเลที่หนุนขึ้นสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการระบายน้ำลงสู่ทะเล ทั้งนี้ปัญหาการระบายน้ำฝนลงสู่ทะเลจะต้องแก้ไขในระยะยาวต่อไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเป็นการแก้ไขปัญหาแบบถาวร
             อย่างไรก็ตาม ต้องขอโทษไปยังพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ยืนยันว่าผู้บริหารเมืองพัทยาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด ไม่คิดจะละเลยและทอดทิ้งปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
Subscribe
Advertisement