เมืองพัทยาถอดบทเรียนเหตุเพลิงไหม้ บูรณาการร่วมทุกภาคส่วนป้องกันและรักษาความปลอดภัย หวังเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว

            (14 ก.ย.63) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายพรชัย สังข์เอียด ปลัดอำเภอบางละมุงฝ่ายความมั่นคง ร่วมเป็นประธานประชุมหารือการพัฒนาแนวทางการบูรณาการร่วมป้องกันและรักษาความปลอดภัยเมืองพัทยา โดยมีตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันพลเรือน เจ้าหน้าที่ อปพร.และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
              นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวถึงการประชุมหารือพัฒนาแนวทางการบูรณาการร่วมป้องกันและรักษาความปลอดภัยเมืองพัทยาในครั้งนี้ว่า เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นย่อมเกิดการสูญเสียในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเมืองพัทยา อีกทั้งปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารสังคมออนไลน์มีการสื่อสารถึงกันได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว การป้องกันเหตุไม่ให้เกิดเหตุร้าย หรือในกรณีเกิดเหตุขึ้นแล้ว สามารถเข้าระงับเหตุหรือให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการดูแลหลังเกิดเหตุในด้านการเยียวยา เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว จึงจัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุร้ายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อเป็นการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว
            โดยที่ประชุมได้มีการถอดบทเรียนเหตุเพลิงไหม้อาคารพุทธบารมี บ้านสุขาวดี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และเหตุเพลิงไหม้ บริษัท S.N.J. พัทยา เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมหารือปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการเข้าช่วยเหลือและระงับเหตุ หลังพบว่าทั้ง 2 เหตุการณ์ยังขาดเรื่องของการบัญชาการเหตุ การติดต่อประสานงานขณะเกิดเหตุ ขาดการรายงานผล อีกทั้งเจ้าหน้าที่พนักงานดับเพลิงขาดความรู้และทักษะใหม่ ๆ ในการเข้าระงับเหตุ ตลอดจนการจัดการจราจรในพื้นที่เกิดเหตุ ทำให้การเข้าช่วยเหลือและการระงับเหตุการณ์ยังขาดประสิทธิภาพ
             ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีแนวคิดในการปฏิบัติการให้ช่วยเหลือเวลาเกิดเหตุ ทั้งการตั้งโต๊ะบัญชาการเหตุ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาประจำจุดรับฟังปัญหาและประสานงานปฏิบัติการ และสั่งการ เพื่อรายงานผู้บัญชาตามลำดับ และควรจัดให้มีการฝึกซ้อมร่วมกันในระดับปฏิบัติการ เพื่อวางกรอบการทำงานและตำแหน่งให้ชัดเจน รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ และนำความรู้ที่ได้จากการฝึกซ้อมมาปรับใช้ในการเข้าช่วยเหลือและระงับเหตุเมื่อเกิดเหตุการณ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

Subscribe
Advertisement