ชาวพัทยา 80% สนับสนุนสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล เส้นทางถนนพัทยาสาย 2 คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างช่วงปี 2567 มูลค่าลงทุน 26,000 ล้านบาท ในระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

           (20 ส.ค.63) ที่ศูนย์ประชุมมหาไถ่ พัทยา นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า โดยมีนายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดการโครงการฯ ร่วมชี้แจง พร้อมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม
           นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา กล่าวว่า เนื่องจากเมืองพัทยาเป็นเมืองหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมืองย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากการเจริญเติบโตของเมืองพัทยา ซึ่งพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาการจราจรในเมืองพัทยา คือ ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงพอ ทำให้มีปริมาณการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและเกิดมลพิษทางอากาศ ทำให้เมืองพัทยามีความจำเป็นในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการเดินทางในเมืองพัทยาให้ครอบคลุมที่พักอาศัยและแหล่งกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่
ทั้งนี้ปัจจุบันเมืองพัทยามีจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะเติบโตมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพสูง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองพัทยาและเป็นการป้องกันปัญหาการจราจรในตัวเมืองพัทยาได้ในอนาคต และการดำเนินการต้องสอดคล้องกับหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

              ซึ่งการดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา จะเป็นการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและโคร่งข่ายในเขตพื้นที่เมืองพัทยาและเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพให้เกิดการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการคมนาคม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียดของโครงการนำร่องของระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบรถไฟรางเบา หรือระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพ และศึกษาผลกระทบที่มีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
            ด้านนายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาทางด้านวิศวกรรม ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ไปแก้ไขเพิ่มเติมในรายงานการศึกษาให้มีความครบถ้วน และนำผลการศึกษาส่งให้เมืองพัทยา ทั้งนี้สำหรับการรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้งที่ผ่านมาหลังจากได้มีการนำเสนอโครงการฯ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า ระบบรถรางเบา หรือโมโนเรล ถึง 80% ซึ่งก็มีประชาชนบางส่วนที่เกิดความกังวล ในเรื่องของพื้นที่การก่อสร้าง เนื่องจากถนนนพัทยาสาย 2 มีความคับแคบ หากมีการก่อสร้างจะส่งผลกระทบกับการจราจร และอาจจะทำให้สภาพภูมิทัศน์ของเมืองพัทยาไม่สวยงาม ทางที่ปรึกษาก็ได้มีการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไข จนออกมาเป็นรูปแบบที่นำมาเสนอในครั้งสุดท้ายนี้
           โดยที่ผ่านมาทางที่ปรึกษาได้มีการนำเสนอรูปแบบรถไฟฟ้าแบบโมโนเรล โดยจะเป็นระบบเดียวกับที่มีการดำเนินการใน กทม.ที่ดำเนินการในขณะนี้ ทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลือง แต่จะเล็กกว่า ซึ่งระบบโมโนเรลเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่สูงกว่าระดับถนนเดิม แล้วแต่การกำหนด การก่อสร้างจะมีผลกระทบน้อย เพราะจะมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อ หรือ Pier ที่กว้างเพียง 1.8 เมตร และมีการนำมาประกอบเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่งบการลงทุนก็น้อยกว่าระบบอื่น ที่สำคัญเหมาะกับพื้นที่ผิวถนนเดิมของเมืองพัทยาที่มีความกว้างไม่มากนัก ส่วนการเลือกระบบโมโนเรล ซึ่งมองว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดนั้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยเส้นโครงการทางนำร่อง ถนนพัทยาสาย 2 ด้วยถนนพัทยาสาย 2 ไม่มีอาคารที่มีความสูงเกิน 4 ชั้นมาก ทำให้การยกระดับไม่จำเป็นต้องใช้ระดับความสูง ซึ่งอาจส่งผลต่องบประมาณในการลงทุน ทั้งสถานีจอดและทัศนียภาพ
             อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางนี้อาจต้องมีการเวนคืนที่ดินบ้าง เช่น ริมถนนมอเตอร์เวย์ด้านทิศใต้เลียบรั้วตลอดแนว เพื่อไม่ให้ไปรบกวนเส้นทางหลัก จุดที่ 2 คือบริเวณหน้าห้าง Terminal 21 และบริเวณแยกทัพพระยา โดยตลอดเส้นทางจะมีจุดจอดรวม 13 จุด ส่วนแผนการดำเนินการหลังจากผ่านการรับฟังความคิดเห็นและผ่านกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว หลังจากนี้จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติโครงการฯ ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2566-2567 และจะเปิดให้บริการในช่วงปี 2570 โดยมูลค่าการลงทุน รวม 26,000 ล้านบาท ในระยะเวลาสัมปทานรวม 30 ปี

Subscribe
Advertisement