องค์กรสื่อสารด้านการขยะพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมธนาคารขยะชุมชนวัดช่องลมเป็นต้นแบบที่ดีด้านการจัดการขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน

         ตามที่คณะทำงานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ Rubbish Communication ได้ร่วมสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลการดำเนินการของธนาคารขยะชุมชนวัดช่องลม โดยนายรุ่งโรจน์ โลห์ทองคำ ผู้จัดการธนาคารขยะชุมชนวัดช่องลม ได้จัดเปิดทำการธนาคารขยะเพื่อรับฝากขยะรีไซเคิลนำไปแลกเป็นเงินออม โดยจะเปิดทำการในทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นชุมชนแรกในเมืองพัทยาที่มีการดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมนั้น
              มีรายงานว่า ประธานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ นางสาวสุภาดา วงศ์ซิ้ม ประธานองค์กรฯ ได้หารือกับนายรุ่งโรจน์ ผู้จัดการธนาคารขยะชุมชนวัดช่องลม ถึงที่มา การดำเนินการ ปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งธนาคารขยะของชุมชน โดยนายรุ่งโรจน์เล่าว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนจัดการทำกันเองมาตลอด ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงานภายนอก อยากให้มีการส่งบุคลากรมาให้ความรู้ความเข้าใจกับคนในชุมชนและคณะกรรมการธนาคารขยะชุมชนเพื่อเกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธนาคารขยะเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และเพื่อความเข้มแข็งและความมั่นคงของธนาคารขยะชุมชน เพราะปัจจุบันก็ได้หาแนวทางศึกษาหาความรู้เอาเองจากอินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชียลต่าง ๆ จึงอยากมีผู้มาให้ความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น
              ผู้จัดการธนาคารขยะชุมชนวัดช่องลม ให้ข้อมูลว่า สำหรับประชากรในชุมชนวัดช่องลมมีอยู่ประมาณร่วม 400 หลังคาเรือน เป็นประชากรพื้นเพประมาณ 100 กว่าหลังคาเรือน ที่เหลือเป็นประชากรแฝงที่ย้ายมาอยู่อาศัยเป็นเวลานาน หากนับตามจำนวนทะเบียนราษฎร์มีประชากรรวมประมาณ 250 บ้านเลขที่ แต่หากรวมเป็นจำนวนห้องพักจะมีอยู่รวมประมาณ 3,500 ห้อง ซึ่งสร้างขยะเป็นจำนวนมากให้ชุมชน โดยเฉพาะถุงพลาสติก ชาวบ้านในชุมชนจึงเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาขยะถุงพลาสติกนี้ นำมาทำความสะอาดและขายเป็นรายได้ จนเริ่มมาเป็นการจัดตั้งธนาคารขยะเกิดขึ้นในที่สุด โดยในปัจจุบันพบปริมาณขยะรีไซเคิลที่สามารถฝากขายได้ในแต่ละเดือนเฉลี่ยเป็น ขยะขวดพลาสติกรวมประมาณ 30 กิโลกรัม ขยะขวดแก้วประมาณ 100 กิโลกรัม ขยะถุงพลาสติกประมาณ 20 กิโลกรัม ขยะกระดาษประมาณ 100 กิโลกรัม ขยะโลหะประมาณ 60-70 กิโลกรัม และอโลหะอีกประมาณ 40 กิโลกรัม
            ประธานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ Rubbish Communication ได้พูดคุยถึงความต้องการของคณะทำงานธนาคารขยะชุมชนวัดช่องลม ทราบว่าขณะนี้ยังขาดแคลนทรัพยากรอีกมาก ทั้งในส่วนของโรงเรือนหรือที่ทำการธนาคารขยะ ที่ไว้ใช้ประชุมหารือสำหรับคนในชุมชน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เพราะปัจจุบันธนาคารขยะจะใช้พื้นที่บริเวณทางเข้าบ่อน้ำสาธารณะของชุมชนเท่านั้น ยังไม่มีอาคารอย่างเป็นกิจลักษณะ ซึ่งในเรื่องนี้ทางองค์กรสื่อสารด้านการขยะพร้อมสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ ซึ่งต้องมีการพูดคุยเพื่อหาแนวทางการขออนุญาตใช้พื้นที่กับทางอำเภอบางละมุง ซึ่งมีอำนาจดูแลรับผิดชอบที่ดินแปลงดังกล่าว พร้อมหาแนวคิดการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อเข้ามาจัดการระบบการทำงานให้ธนาคารขยะดำเนินการได้อย่างเป็นเอกเทศ มีอิสระ และมีความชัดเจน เพื่อความมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไปในเร็ว ๆ นี้ด้วยเช่นกัน

Subscribe
Advertisement