เมืองพัทยา ร่วมกับการไฟฟ้า ลงพื้นที่สำรวจการดำเนินการสายไฟลงดินถนนวอล์คกิ้งสตรีท หลังพบท่อระบายน้ำขนาด 1.60 เมตร ขวางแนวทางการก่อสร้าง เตรียมปรับรูปแบบใหม่ คาดเริ่มเข้าก่อสร้างได้ช่วงเดือน มิ.ย.นี้ (มีคลิป)

             (28 เม.ย.63) นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา นายธนู สุรชัยสิขวิทย์ หัวหน้าแผนกจัดการงานโครงการก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้า คณะกรรมการสมาคมผู้ประกอบการร้านวอล์คกิ้งสตรีทพัทยา และที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา ร่วมสำรวจพื้นที่การดำเนินการสายไฟลงดินถนนวอล์คกิ้งสตรีท หลังพบปัญหาอุปสรรคท่อระบายน้ำเมืองพัทยาที่มีการวางไว้นานกว่า 20 ปี ขวางแนวทางการวางท่อรอยสายไฟใต้ดิน ทำให้ต้องมีการแก้ไขปรับแบบ
            นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้เนื่องจากการฟ้าได้มีหนังสือถึงเมืองพัทยาในการขอเข้าพื้นที่ถนนวอล์คกิ้งสตรีท เพื่อจะขอเปิดผิวถนนสำรวจสาธารณูปโภคใต้ผิวถนน รวมถึงสำรวจแนวทางท่อเดิมที่อยู่ใต้ผิวถนนนั้นอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง ก่อนที่จะมีการดำเนินการสายไฟลงดินถนนวอล์คกิ้งสตรีทเนื่องจากที่ผ่านมาการไฟฟ้าไม่ทราบว่าแนวท่อขนาด 1.60 เมตร หรือที่เรียกว่าท่อยาง ซึ่งเมืองพัทยาได้มีการว่างท่อระบายน้ำดังกล่าวไว้มานานกว่า 20 ปี ช่วงสมัยที่มีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยาสมัยแรกๆ
              ทั้งนี้หลังจากการลงพื้นที่สำรวจในครั้งนี้ ทางการไฟฟ้าจะนำผลที่ได้จากการสำรวจใต้ผิวถนนไปวิเคราะห์ ศึกษาว่าจะสามารถนำท่อเดิมของเมืองพัทยาขนาด 1.60 เมตร ที่มีสภาพแข็งแรงนำไปใช้ได้หรือไม่ ซึ่งหากสามารถนำท่อดังกล่าวไปใช้ได้ก็จะเกิดประโยชน์และไม่ส่งผลกะรทบต่อผู้ประกอบการวอล์คกิ้งสตรีท แต่หากไม่สามารถใช้ท่อเดิมได้ก็จะเร่งปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานไว้แล้ว
            ด้านนายธนู สุรชัยสิขวิทย์ หัวหน้าแผนกจัดการงานโครงการก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้า กล่าวว่า เดิมรูปแบบการก่อสร้างการดำเนินการสายไฟลงดินถนนวอล์คกิ้งสตรีทนั้นจะเป็นการเจาะดึงท่อที่มีระดับความลึก 1.50 เมตร ถึง 2 เมตร โดยการก่อสร้างนั้นจะทำการเปิดผิวถนนภายใต้ถนนวอล์คกิ้งสตรีท จำนวน 30 จุด ในการเจาะดึงท่อ ซึ่งการสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้พบว่ามีท่อระบายน้ำของเมืองพัทยาขนาด 1.60 เมตร อยู่บริเวณกึ่งกลางถนน มีระดับความลึกอยู่ที่ไม่เกิน 1.50 เมตร โดยท่อดังกล่าวเป็นปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ในเบื้องต้นการไฟฟ้าจะนำข้อมูลจากการสำรวจหน้างานไปศึกษาและปรับรูปแบบการก่อสร้างตามคำแนะนำของเมืองพัทยาในเรื่องของการนำท่อที่มีอยู่เดิมนำไปใช้ จะต้องมีการออกแบบอย่างไรให้สอดคล้องกับสภาพหน้างานจริง เพื่อลดระยะเวลาในการก่อสร้างให้น้อยลงและลดความเสียหายระหว่างการขุดเจาะ
            อย่างไรก็ตาม สำหรับการสำรวจออกแบบคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 เดือน และในเดือนมิถุนายน 2563 จะสามารถเปิดพื้นที่เข้าก่อสร้างได้ ซึ่งรูปแบบเดิมที่มีการออกแบบในการก่อสร้างจะใช้ระยะเวลา 4-5 เดือน ทั้งนี้หลังจากการปรับรูปแบบก่อสร้างใหม่จะทำให้ระยะเวลาในการก่อสร้างสั้นลง

(ชมคลิป)

Subscribe
Advertisement