แล้งหนัก…น้ำในอ่างแห้งขอด ประปาพัทยาลดกำลังปริมาณการสูบน้ำดิบ 5 อ่างหลัก จับมือชลประทานดึงน้ำระยอง –จันทบุรีเสริม รับปากพัทยาน้ำไม่ขาดถึง มิ.ย. ด้านนายกเมืองพัทยาแนะขุดลอกอ่างหวังรับน้ำเพิ่ม

            ในการประชุมสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ที่โรงแรมเดอะกรีนพาร์ค จ.ชลบุรี นายสุทัศน์ นุชปาน ผู้จัดการสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคพัทยา เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งและปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ว่าสำหรับเมืองพัทยาใช้แหล่งน้ำดิบในการนำมาผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค บริโภคจากจาก 5 อ่างกักเก็บหลัก ได้แก่ อ่างหนองกลางดง อ่างห้วยสะพาน อ่างห้วยขุนจิต อ่างมาบประชัน และอ่างชากนอก ซึ่งทั้งหมดมีปริมาณน้ำดิบเต็มความจุจำนวน 40 ล้าน ลบ.ม. แต่ด้วยความที่เมืองพัทยาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและที่พักอาศัยจึงมีความจำเป็นในการใช้น้ำกว่า 80 ลบ.ม./ปี หรือมากกว่าปริมาณน้ำดิบที่มีอยู่ในอ่างถึง 1 เท่า ด้วยเหตุนี้จึงต้องการมีการดึงน้ำดิบเพิ่มเติมมาจากแหล่งอื่น ทั้งอ่างบางพระ ในอำเภอศรีราชา อ่างหนองปลาไหล ในจังหวัดระยอง หรือการซื้อน้ำจาก บริษัทอีสเวอร์เตอร์ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
            อย่างไรก็ตามสำหรับปีที่ผ่านมาพบว่าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจากปัญหาภัยแล้งทางธรรมชาติ ทำให้ปริมาณน้ำดิบที่สามารถกักเก็บในอ่างนั้นเหลืออยู่เพียง 9 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอจึงต้องลดการสูบน้ำจาก 5 อ่างหลักมาผลิตน้ำประปาเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งแต่เดิมจะมีสัดส่วนการสูบน้ำจาก 5 อ่างในปริมาณ 50 % ก็ได้มีการปรับลดลงเหลือ 25 % แต่ไปเพิ่มในส่วนของการผันน้ำจากอ่างหนองปลาไหล จากจังหวัดระยอง เป็น 44 % จากอีสวอร์เตอร์ 9 % จากอ่างบาง พระ 4 % การประปาสัตหีบ 7 % และระบบรีไซเคิลอีก 8 % เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำประปาจำนวน 2.51 แสน ลบ.ม./วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มีการใช้รวมในแต่ละวันในพื้นที่เมืองพัทยา
อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เกิดขึ้นการประปาพัทยาก็ได้เสริมมาตรการการลดแรงดันน้ำแต่ไม่ได้ลดปริมาณการจ่ายน้ำ เพื่อลดการสูญเสียจากปัญหาท่อแตก รั่ว ซึม ซึ่งถือว่ามีค่าเฉลี่ยสุดถึงกว่า 25 % จึงอาจทำให้หลายพื้นที่มีน้ำไหลเอื่อยบ้าง
             ด้านนายทินกร สุทิน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชลบุรี จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบ ทางกรมชลประทานจึงได้วางแผนแก้ไขและการผันน้ำจากแหล่งอื่นมาเสริมเพื่อลดปัญหาโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ทั้งนี้ได้มีการหารือกับเจ้าของพื้นที่ของแหล่งน้ำดิบสำคัญอย่าง คลองวังโตนด ในพื้นที่จังหวัดระยองที่จะขอผันน้ำดิบจำนวน 10 ล้าน ลบ.ม.สูบมายังอ่างเก็บน้ำประแส จากนั้นจึงสูบส่งต่อมายังอ่างหนองปลาไหล และโรงกรองเมืองพัทยา ซึ่งได้ข้อยุติแล้วจะทำให้เมืองพัทยามีน้ำดิบเพิ่มอีกวันละ 8 หมื่น ลบ.ม.เป็นวันละ 1.1 แสน ลบ.ม. รวมถึงการดึงน้ำจากคลองหลวง มายังพานทอง และสูบมาเก็บไว้ที่อ่างบางพระ เพื่อส่งต่อมายังเมืองพัทยาอีกทอด จึงมั่นใจได้ว่าเมืองพัทยาจะไม่ขาดแคลนน้ำไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นอน ซึ่งก็จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนพอดี
            อย่างไรก็ตามหากถึงฤดูฝนสถานการณ์น้ำตามธรรมชาติยังคงวิกฤติทางกรมชลประทานก็ได้หารือกับ บ.อีสวอร์เตอร์ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อจัดหาน้ำสำรองไว้จำนวน 12 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งการเจรจาขอสูบน้ำเพิ่มจากบ่อขุดของเอกชน ซึ่งประมาณการว่าจะได้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้าน ลบ.ม.และแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิด ขึ้น สำหรับพื้นที่ชลบุรีถือว่าอยู่ในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งตามยุทธศาสตร์ชาติได้เตรียมแผนการรองรับไว้แล้ว ทั้งการขุดอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม อย่าง อ่างอวายใหญ่ หางแมว และวังโตนด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ที่จะได้น้ำเพิ่มกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. การผันน้ำจากคลองสะพานและประแส ในจำนวนน้ำ 60 ล้าน ลบ.ม. และจากพื้นที่จังหวัดสระแก้วอีก 120 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับปัญหาน้ำดิบได้นานกว่า 20 ปี
Subscribe
Advertisement