ตระหนก..ค่า PM 2.5 พัทยาสูง 162 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร เกินกำหนดค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก (มีคลิป)

มีรายงานว่าเวลา 15.30 น.วันนี้ (17 ธ.ค.62) ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี สภาพอากาศโดยทั่วไปจากการตรวจสอบในแอปพลิเคชั่น Air Visual ซึ่งวัดค่าของอากาศพบว่าเมืองพัทยามีอุณหภูมิอยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส แรงลม 16.6 กม./ชม. แต่ค่า PM 2.5 อยู่ที่ 162 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่ถูกต่อสุขภาพ หรือสูงกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลก ทำให้บรรยากาศในพื้นที่เมืองพัทยาโดยทั่วไปขมุกขมัว ไม่สามารถมองทัศนียภาพได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะจากบริเวณตึกสูงและพื้นที่อ่าวพัทยา ที่มีลักษณะเหมือนหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาตรวจสอบหรือประชาสัมพันธ์เตือนหรือแจ้งในกรณีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
              จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่าดัชนีคุณภาพอากาศหรือ (AQI) คือตัวเลขที่ใช้เพื่อสื่อสารว่าอากาศมีมลภาวะแค่ไหน เมื่อ AQI มีค่าสูงขึ้น เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจะยิ่งสูงขึ้น ประเทศต่างๆ มีดัชนีคุณภาพอากาศเป็นของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพอากาศแห่งชาติที่ต่างกัน มาตราส่วนที่ใช้ในแอพ Blueair Friend อ้างอิงจากมาตราส่วนของ Environmental Protection Agency AQI นี้ถูกแบ่งออกเป็น 6 หมวดที่แสดงถึงระดับของความกังวลทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้น โดยค่า AQI ที่มากกว่า 300 แสดงถึงคุณภาพอากาศที่เป็นอันตราย ต่ำกว่า 50 หมายถึงคุณภาพอากาศดี
             มีรายงานว่าก่อนหน้านี้ในช่วงกลางปี 2562 นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้เคยทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานราชการทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายกเมืองพัทยา นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ และนายกเทศบาลเมืองทุกแห่ง โดยระบุว่า ด้วยค่าฝุ่น PM 2.5 ตามกำหนดองค์การอนามัยโลก ไทยได้มีการกำหนดค่าไว้สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก โดยมีค่าเฉลี่ยรายปีและค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงไว้ที่ 25 และ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แหล่งกำเนิด ได้แก่ การเผาไหม้ในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต และการรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 30 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ PM 2.5 จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก
            โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมาสถานการณ์คุณภาพอากาศจังหวัดชลบุรี พบว่ามีค่าสูงกว่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ อาทิ ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี ค่า PM 2.5 เท่ากับ 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา ค่า PM 2.5 เท่ากับ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา ค่า PM 2.5 เท่ากับ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงให้พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสอดคล้องต่อสถานการณ์ โดยดำเนินการลดแหล่งเกิดฝุ่นควัน ควบคุมการเผาที่จะส่งผลให้เกิดฝุ่นควันในที่โล่งอย่างเข้มงวด เช่น การเผาขยะ หญ้า และเศษวัสดุทางการเกษตร รวมถึงการเผาอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน การลดแหล่งกำเนิดฝุ่นควันที่เกิดจากเครื่องยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากหน่วยราชการและประชาชนในการลดการใช้รถยนต์ เพื่อลดจำนวนยานพาหนะในเขตเมือง ตลอดจนการดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และลดปัญหาฝุ่นละอองบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เขตถนนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการฉีดล้างทำความสะอาดในช่วงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย รวมถึงบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนและจิตอาสาในการฉีดพ่นละอองน้ำทำความสะอาดถนน สร้างความชุ่มชื้นเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ อีกทั้งให้ทำการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนโดยประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้อง ตลอดจนเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และจัดกิจกรรมรณรงค์ในเรื่องของการลดมลพิษ และให้รายงานผลการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรีให้ทราบ

(ชมคลิป)

Subscribe
Advertisement