การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งตัวแทนภาคเอกชน จัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สูภาคตะวันออก (มีคลิป)

             (31 ต.ค.62) ที่ห้องประชุมศาลาประชาคม อำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี นางสาวภารดี เผือกโสภา ปลัดอาวุโสอำเภอบางละมุง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม งานศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด แนวเส้นทางโครงการ งานก่อสร้างทางคู่ มีแนวเส้นทางเริ่มจากช่วงชุมทางศรีราชา – ชุมทางเขาชีจรรย์ – มาบตาพุด และชุมทางเขาชีจรรย์ – สัตหีบ และการก่อสร้างเลี่ยงเมือง (Chord Line) บริเวณชุมทางศรีราชาและชุมทางเขาชีจรรย์ ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร โดยการออกแบบจะทำให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการต่างๆ ในอนาคต เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองฉะเชิงเทรา และการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด ตามแนวทางพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC)
            นายสมเกียรติ เตรียมแจ้งอรุณ ผู้จัดการโครงการฯ ชี้แจงว่า โครงการนี้อยู่ในช่วงของการออกแบบรายละเอียด เพื่อจะทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA คาดว่าปีหน้าการศึกษาและการจัดทำรายงานคงแล้วเสร็จ และหากผ่านการเห็นชอบของ สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว คงจะได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล จากนั้นจึงจะมีการออกกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะใช้เวลาการเวนคืนที่ดินประมาณ 2 ปี นับจากวันที่ได้งบประมาณ ส่วนระยะเวลาการเริ่มโครงการยังไม่มีการกำหนด
           นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบรถไฟทางคู่ เพื่อรองรับความเร็วของรถไฟที่ 160 กม./ชม. โครงการนี้จะมีการเวนคืนเฉพาะจุดตัดเท่านั้น หากบริเวณใดเป็นเส้นตรงอยู่แล้วจะไม่มีการเวนคืนเพิ่มจะใช้แนวเดิม แต่หากบริเวณใดเป็นแนวโค้งหากรัศมีไม่พออาจจะมีการเวนคืน แต่ถึงอย่างไรก็ตามจะไม่มีการเวนคืนเพิ่ม ยกเว้นบริเวณจุดตัด ซึ่งมีอยู่ 2 จุด ซึ่งเป็นเส้นทางลอดบริเวณโรงโป๊ะ และวัดสังกะเปียว ดังนั้นในการดำเนินงานดังกล่าว ต้องมีการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ จึงจัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบรายละเอียด ร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ สำหรับนำไปประกอบการนำไปพิจารณาประกอบการกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการแก้ไขประเด็นข้อวิตกกังวลต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการมีความครบถ้วน และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

(ชมคลิป)

Subscribe
Advertisement