จังหวัดชลบุรีเรียกประชุมด่วน..หลังรัฐจี้เร่งแก้ไขปัญหารับทัวร์จีนเข้าวัด หลอกขายพระเครื่องราคาแพง ก่อนได้ผลสรุปให้ดำเนินการตามกรอบ กม.และมหาเถรสมาคม ทุกอย่างต้องขออนุญาตตามขั้นตอน (มีคลิป)

            จากกรณีเพจ “บิ๊กเกรียน” ได้โพสต์รูปภาพพร้อมเรื่องราวแฉกรุ๊ปทัวร์จีนได้เช่าพื้นที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี สร้างโบสถ์ปลอมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยเฉพาะ ภายในยังมีการเปิดขายพระ เครื่องรางของขลังแพงกว่าปกติหลักหลายหมื่นบาท โดยมีการจัดคนมาจำหน่ายตั้งแผงขายธูปเทียน และพบว่ามีรถทัวร์จอดอยู่หลายคัน หน้าอาคารอยู่ตรงข้ามพระอุโบสถ์ของวัดเป็นอาคารคล้ายพระอุโบสถ์ ส่วนด้านในมีศาลาตั้งพระพรหม เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนกราบไหว้ ซึ่งเงินสะพัดเข้ากระเป๋านายทุนในประเทศจีน โดยพฤติกรรมลักษณะนี้เข้าข่ายแก๊งขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญ จนทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายย่อยยับ ทั้งเรื่องภาพลักษณ์ และรายได้เข้าประเทศ วอนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามากวดขันจับกุม
             ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบวัดที่เป็นกระแสข่าว ซึ่งพบว่าเป็น วัดเขาไม้แก้ว ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีตัวแทนจากสำนักพระพุทธศาสนา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี ตำรวจท่องเที่ยวพัทยา ตำรวจ ตม.พัทยา ฝ่ายปกครองอำเภอบางละมุง และ สภ.ห้วยใหญ่ เข้าร่วมตรวจสอบ โดยพบพระครูสุนทรรัตาภิรม เจ้าอาวาส พร้อมด้วยไวยาวัจกร คณะกรรมการวัด และตัวแทนบริษัทนำเที่ยวที่มาขอเช่าพื้นที่ภายในวัด รอให้ตรวจสอบและอธิบายถึงกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับคำตอบว่ามีการเช่าพื้นที่ธรณีสงฆ์จริง แต่ทางวัดก็นำไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะและชุมชน ที่สำคัญมีการทำสัญญาเช่าถูกต้อง และมีการขออนุญาตจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดชลบุรีแล้ว จะมีเพียงพนักงานของบริษัทบางส่วนที่ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวดำเนินคดี เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรอย่างถูกต้อง ส่วนสินค้าราคาแพงอย่างพระเครื่องที่ระบุว่ามีการหลอกขายนั้น มีการชี้แจงว่าแล้วแต่ศรัทธาของนักท่องเที่ยวไม่ได้บังคับขาย และพระทุกองค์ก็ผ่านพิธีพุทธาภิเษกมาแล้วทั้งสิ้นนั้น
               ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 ที่วัดหนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เรือโท ศตวรรษ อนันตกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาวัดที่มีทัวร์ต่างประเทศในจังหวัดชลบุรี โดยมีตัวแทนจากคณะสงฆ์ภายในจังหวัดชลบุรี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และจังหวัด ฝ่ายกฎหมายสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค อำเภอบางละมุง ตม.พัทยา ตำรวจท่องเที่ยว ตัวแทนบริษัททัวร์นำเที่ยว พาณิชย์จังหวัด ตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด เข้าร่วม เพื่อวางกรอบและหาแนวทางแก้ไขเร่ง ด่วน เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นกระแสทำให้เกิดความเสื่อเสียในวงการพระพุทธศาสนา
              เรือโท ศตวรรษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวในที่ประชุมว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นข่าวที่สร้างความเสียหายต่อศาสนาอย่างมาก จึงมีคำสั่งให้มีการประชุมร่วมทุกภาคส่วนเพื่อวางกรอบและแนวทางการแก้ไข โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นต้องมีการวากรอบและกำหนดข้อระเบียบที่ชัดเจน โดยอ้างอิงเอาระเบียบของมหาเถรสมาคม และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุม ทั้งเรื่องการเรี่ยไรเงินในวัด การเช่าพื้นที่ธรณีสงฆ์ของวัด การก่อสร้างพระพุทธรูป พระเครื่อง การจัดจำหน่าย และเรื่องของแรงงานเข้ามาพิจารณา ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเยี่ยมชมวัดหรือโบราณสถานต่างๆ ของประเทศไทย แต่การมาเช่าพื้นที่หรือการให้ข้อมูล ไม่หลอกลวงก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องควบคุมให้ถูกต้อง อย่างกรณีในพื้นที่อำเภอบางละมุงนั้นพบว่ามีวัดรวมทั้งหมด 14 แห่ง แต่จะมีที่ขออนุญาตและผ่านขั้นตอนจากระดับจังหวัด สำนักพระพุทธศาสนา และการลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพียง 4 แห่งเท่านั้น ที่เหลือจะมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันแต่ไม่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามกฎระเบียบของมหาเถรสมาคมอย่างเคร่งครัด ทั้งการเช่าพื้นที่ การจัดหาประโยชน์ ซึ่งตามกฎต้องได้รับอนุญาตก่อนให้เช่า เพราะวัดไม่ใช่ที่ดินของเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสมีอำนาจเพียงการดูแลวัด บูรณะและพัฒนาเท่านั้น ส่วนที่ดินทั้งหมดเป็นของพุทธศาสนา ดังนั้นการจะกระทำการใดๆ ต้องมาอย่างถูกต้อง
              สำหรับพื้นที่เมืองพัทยา และอำเภอบางละมุง มีการจัดทำลักษณะเชิงท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมทุกวัด ก็เป็นเรื่องดีที่มีโอกาสได้เผยแผ่พระพุทธศาสนา และพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งที่คนจีนนับถือเป็นจำนวนมาก แต่ตามมติมหาเถรสมาคม ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้มีการเช่าพื้นที่ธรณีสงฆ์ได้ แต่ห้ามมิให้บุคคลภายนอกเข้ามาจำหน่ายสินค้าในวัดโดยเด็ดขาด ต้องเป็นคนของวัดเท่านั้น เช่น กรณีพระพุทธรูปหรือพระเครื่องที่เกิดปัญหาการจำหน่ายสินค้าแพงเกินราคา อย่างไรก็ตามการเช่าพื้นที่วัดและมีการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างก็ต้องถือว่าเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งหากทำให้อยู่กรอบ ทั้งเรื่องของราคา การให้ข้อมูล การป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่กระทำได้

             ขณะที่วัตถุมงคลที่มีการระบุว่ามีการหลอกลวงและขายในราคาแพงนั้น กรณีนี้เป็นเรื่องลำบากที่จะตัดสิน ด้วยเป็นเรื่องของศรัทธาและคุณภาพของสินค้า รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ มากกว่า ซึ่งทาง สคบ.เองก็ระบุว่าการหลอกลวงที่ว่าอาจมีความหมายถึงการให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยน หรือการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น การให้ข้อมูลขององค์พระที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น เป็นพระเกจิดัง เรื่องของมวลสาร หรือผ่านการทำพิธีพุทธาภิเษก จากเกจิอาจารย์ต่างๆ มา ซึ่งอาจเข้าข่ายหลอกลวงได้ รวมถึงเรื่องของกรอบหรือวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มว่าเป็นทองคำจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพราะแม้ผู้เสียหายจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ก็เป็นเรื่อง สคบ.ต้องดูแลในฐานะผู้บริโภคเช่นกัน ส่วนราคาน่าจะเป็นเรื่องของความศรัทธาของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เพียงแต่ต้องไม่มีการบังคับข่มขู่การจัดจำหน่ายอย่างเด็ดขาด

                อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมมีการสรุปการแก้ไขปัญหาคร่าวๆ ว่าทุกอย่างต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย หรือมหาเถรสมาคม โดยจะอะลุ่มอล่วยให้มีการเช่าพื้นที่ได้แต่ต้องมีการขออนุญาตตามลำดับชั้นอย่างถูกต้อง ไม่มีการสร้างถาวรวัตถุที่ยังไม่ได้อนุญาต ส่วนพระเครื่องที่จัดจำหน่ายต้องเป็นพระที่สร้างขึ้นโดยวัดที่จัดให้มีทัวร์นำเที่ยวโดยตรงไม่ใช่เอาพระจากที่อื่นมาผสมรวม โดยพระเหล่านี้ต้องมีหลักฐานการสร้าง จำนวน ราคา และต้องผ่านพิธีเทวาภิเษก หรือพุทธาภิเษกโดยตัววัดเองเท่านั้น ขณะที่เรื่องของราคาวัดต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมและไม่เกิดความเสียหาย สิ่งสำคัญคือต้องควบคุมปัญหาเรื่องของแรงงานต่างด้าว หรือให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวจะถือเป็นความผิดซึ่งทางวัดต้องรับผิดชอบด้วย ทั้งนี้จะมีการนำเรื่องเข้าหารือกับคณะมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกรอบและวิธีการที่ชัดเจน เพื่อยุติปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนาต่อไป

(ชมคลิป)

Subscribe
Advertisement