ทร.ไทย-อินโดนีเซีย ฝึกผสม SEA GARUDA ป้องกันภัยทั้ง 3 มิติ ผิวน้ำใต้น้ำและภัยทางอากาศ

               วันนี้ (15 ส.ค.62) พลเรือตรี กำจร เจริญเกียรติ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกผสมแบบทวิภาคี SEA GARUDA 2019 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรืออินโดนีเซีย โดยมีนาวาเอก สมาน ขันธพงษ์ เสนาธิการกองเรือฟริเกตที่ 1 ในฐานะผู้บังคับหมู่เรือฝึกฯ พร้อมด้วยคณะนายทหาร กำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจากกองทัพเรือไทยและอินโดนีเซีย ร่วมในพิธีเปิดการฝึก
                พลเรือตรีกำจร เจริญเกียรติ กล่าวว่า SEA GARUDA (ซีการูด้า ) 2019 เป็นการฝึกปฏิบัติการร่วมกันทั้ง 3 มิติ ระหว่างเรือรบ อากาศยาน และกำลังนาวิกโยธิน ในด้านสาขาสงคราม ผิวน้ำ สงครามใต้น้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ การตรวจค้นและการปฏิบัติการร่วมต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ความรู้ ประสบการณ์ ในการปฏิบัติการร่วมกันและสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างกองทัพเรือทั้งสองประเทศ การฝึกในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 20 โดยจะมีการฝึกปีเว้นปี และสลับกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในปีนี้กองทัพเรือไทยเป็นเจ้าภาพการฝึก ในระหว่างวันที่ 15-21 ส.ค.62 ณ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน และ อ.สัตหีบ โดยมีผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 เป็นผู้อำนวยการฝึก และเสนาธิการกองเรือฟริเกตที่ 1 เป็นผู้บังคับหมู่เรือฝึกฯ และมีผู้แทนจากกองทัพเรืออินโดนีเซีย เป็นรองผู้บังคับหมู่เรือฝึกฯ
              โดยกำลังกองทัพเรือไทยประกอบด้วย เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เครื่องบินลาดตระเวนดอร์เนี่ย เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง S76 B เฮลิคอปเตอร์ตรวจการณ์ผิวน้ำ ซุปเปอร์ลิงค์ และ 1 ชุดปฏิบัติการนาวิกโยธิน 30 นาย กำลังของกองทัพเรืออินโดนีเซีย ประกอบด้วยเรือฟริเกต KRI RUNG TOMO เรือคอร์เวต KRI FRANS KAISIEPO รวม 2 ลำ และ 1 ชุดปฏิบัติการนาวิกโยธิน 12 นาย สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกในครั้งนี้ จะทำให้กำลังพลของกองทัพเรือมีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างเรือรบของกองทัพเรือไทยกับเรือรบจากต่างประเทศ และเรือรบกับอากาศยาน ในการปฏิบัติการทั้ง 3 มิติ สาขาสงคราม ผิวน้ำ สงครามใต้น้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ การปฏิบัติการตรวจค้นเรือต้องสงสัย ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมฝึกกับเรือรบทั้ง 2 ลำ ของกองทัพเรืออินโดนีเซีย รวมทั้งยังได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ของชุดปฏิบัติการนาวิกโยธินกองทัพเรือทั้งสองประเทศ ถือเป็นประโยชน์ต่อกองทัพเรือเป็นอย่างมากนอกจากนี้แล้วยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

Subscribe
Advertisement