รองนายกเมืองพัทยานำกำลังลงตรวจสอบสภาพน้ำเน่าคลองพัทยาใต้ เบื้องต้นสั่งทำตาข่ายดักตะกอน พร้อมตรวจสอบอาคารร้านอาหารริมคลองปรุงอาหารปล่อยน้ำเสียลงคลองโดยตรง สั่งการผู้เกี่ยวข้องเร่งสำรวจระบุแนวทางออก สั่งรื้อส่วนรุกล้ำตามแผนร่วมกรมโยธาธิการ บังคับทำบ่อดักไขมันประกอบการพิจารณาในการออกใบอนุญาต หากไม่ดำเนินการก็พร้อมระงับเพราะเป็นการสร้างความเสียหายต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ (มีคลิป)

               จากกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนว่าสภาพน้ำในคลองพัทยาใต้ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังเกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา พบว่าน้ำในคลองมีระดับสูงกว่า 1-2 เมตร แต่เมืองพัทยาไม่สามารถปล่อยระบายลงสู่ทะเลได้ เนื่องจากน้ำในคลองมีสภาพสีดำขุ่นข้น สกปรก มีเศษตะกอนไขมันลอยอยู่บนผิวน้ำเป็นจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นเน่าสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในละแวกดังกล่าวเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวด้วย
                 ล่าสุดวันนี้ (7 ส.ค.62) นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้รับเหมาดูแลระบบน้ำเสีย ความสะอาด ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยพบว่าสภาพคลองพัทยาใต้มีปัญหาจริง เนื่องจากน้ำมีลักษณะขุ่นดำและมีตะกอนไขมันลอยเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถปล่อยน้ำลงสู่ทะเลได้ โดยนายพัฒนา เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพน้ำในคลองมีสภาพที่แย่มาก ทั้งดำ ขุ่นข้น มีตะกอน และมีกลิ่นเหม็น ทั้งนี้เบื้องต้นได้มอบหมายให้ทางผู้รับเหมานำตาข่ายดักตะกอนมาติดตั้งทั้งต้นทางและปลายน้ำ เพื่อดักตะกอนและขยะมูลฝอยที่ลอยมากับน้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังการตักเก็บอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่น้ำในคลองนั้นได้มอบหมายให้สำนักการช่างสุขาภิบาลทำการสูบน้ำในคลองไปยังสถานี PS1 เพื่อสูบส่งไปที่โรงบำบัดในซอยหนองใหญ่ เนื่องจากสภาพน้ำขณะนี้ไม่สามารถปล่อยลงสู่ทะเลได้ อีกทั้งต้องเร่งลดปริมาณน้ำเพราะเข้าสู่หน้ามรสุม หากน้ำยังมีจำนวนมากและมีน้ำไหลบ่ามาเติมลงไปอีกก็จะทำให้ต้องเปิดประตูน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำเสียลงสู่ทะเลจนเกิดความเสียหายได้
                สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ตรวจพบคือ อาคารพาณิชย์ จำนวนกว่า 10 คูหา ที่ตั้งอยู่ริมคลอง พบว่าส่วนใหญ่ประกอบกิจการเปิดเป็นร้านอาหาร ซึ่งบริเวณด้านหลังแม้จะเคยมีการกันแนวและมีคำสั่งให้ทำบ่อดักไข มันไปแล้วในอดีต แต่จากที่ตรวจสอบพบว่าเกือบทุกหลังยังคงมีพฤติกรรมไร้จิตสำนึกอย่างมากที่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองสาธารณะโดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นการเติมความสกปรกและสร้างความเสียหายต่อแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอย่างมาก จึงได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งเรื่องของผังแนวเขตกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่หากพบว่ายังมีส่วนที่รุกล้ำแนวคลอง ก็จะออกคำสั่งให้ทำการรื้อถอน เพื่อให้เข้าสู่แผนการพัฒนาคลองร่วมกับกรมโยธาธิการในอนาคต รวมถึงการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ในการสั่งให้ผู้ประกอบการจัดทำระบบเพื่อป้องกันน้ำเสียและไขมันลงสู่แหล่งน้ำ โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหารไปด้วย ซึ่งหากพบว่ายังคงไม่ดำเนินการก็จะระงับการออกใบอนุญาตเพื่อลดปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาวต่อไป

Subscribe
Advertisement