สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวพัทยา ถกกรณี คสช.ใช้ ม.44 ผ่อนผันกฎหมายให้ดัดแปลงอาคารโรงแรมเถื่อนทั่วประเทศ ไม่ส่งผลกระทบผู้ประกอบการตัวจริง ระบุการทำสิ่งผิดกฎหมายกลับเข้าสู่ระบบเป็นเรื่องดี (มีคลิป)

               เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.62 ในที่ประชุมสมาชิกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวถึงกรณีที่ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ผ่อนผันกฎหมายผังเมือง และข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนเคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยให้กิจการโรงแรมที่ยังไม่ได้รับอนุญาต แก้ไขอาคารให้ถูกต้อง โดยกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ให้มีถังดับเพลิงทุกชั้น และยื่นเอกสารให้ท้องถิ่นตรวจสอบภายใน 90 วัน โดยกำหนดให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 หรืออีก 2 ปี ซึ่งพบว่าปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงแรมที่ไม่ได้รับอนุญาตกว่า 2 หมื่นแห่งว่า เรื่องนี้ในส่วนของเมืองพัทยาเองก็มีปัญหาในเรื่องของโรงแรมเถื่อนเหล่านี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน หรือกว่า 70 % ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดกว่า 2,000 แห่ง โดยหลังจากที่ คสช.ใช้ ม.44 ประกาศผ่อนผันเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการแบบผิดระเบียบมาตั้งแต่ก่อนจะมีประกาศนั้น ก็เพื่อทำให้สถานประกอบการที่อยู่นอกกรอบของกฎหมายเข้าสู่ระบบ โดยความผิดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็มาจากหลายปัจจัย อาทิ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ร.บ.ผังเมืองรวม การเปลี่ยนประเภทการใช้อาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม
                สำหรับปัญหาสถานประกอบการเหล่านี้ คสช.มีเจตน์จำนงในการแก้ไขปัญหาให้โรงแรมในประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งมีเฉพาะห้องพัก หรือมีห้องพักและห้องอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการที่ตกทอดมาจากครอบครัวสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน โดยในปี 2559 ก็เคยมีกฎกระทรวงผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการยื่นเอกสารการดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องใน 2 ปี จนปี 2561 ก็มีการขยายจาก 2 ปี เป็น 5 ปี ก่อนจะมีประกาศใช้ ม.44 ล่าสุด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ฝ่าฝืนมายื่นแสดงตัวกับท้องถิ่นว่ามีการฝ่าฝืนมาก่อน จากนั้นก็จะกลับไปทำการปรับปรุงอาคารให้เข้าสู่กรอบของกฎหมาย ซึ่งหลังดำเนินการและตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยก็จะได้รับการยกเว้นโทษอาญาที่กระทำผิดมานาน ซึ่งอาจมีโทษปรับในอัตราสูง
                อย่างไรก็ตามสำหรับพื้นที่เมืองพัทยาก็ยังมีปัญหาในเรื่องของผังเมืองรวม และเรื่องของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ต้องดำเนินการอยู่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเรื่องของเงื่อนไขหรือข้อกำหนด/ยกเว้นอย่างไรจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นการรอและรวบรวมเอกสารจากผู้ที่ยื่นความจำนง ซึ่งขณะนี้มีการนำเอกสารมายื่นแล้วกว่า 500 ราย จึงต้องรอไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจน
                  นายรณกิจ กล่าวต่อไปว่าประกาศฉบับนี้น่าจะเน้นไปในเรื่องของอาคารที่เปิดดำเนินการมานาน และสามารถปรับปรุงดัดแปลงอาคารเพื่อให้เข้าสู่กรอบได้ตามที่กำหนด โดยเฉพาะเรื่องของระบบความปลอดภัยด้านการป้องกันอัคคีภัย หรือทางหนีไฟ เป็นหลัก ส่วนกรณีอื่นก็คงต้องรอข้อกำหนดจากรัฐ ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ๆหรือเพิ่งคิดจะดำเนินการ อาทิ การนำตึกแถวมาดัดแปลงเป็นโรงแรม ก็คงจะเนินการเพื่อให้อนุญาตได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากติดกฎหมายผังเมืองรวม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องของพื้นที่และแนวระยะร่นของอาคาร ถึงอย่างไรก็คงจะต้องมีการยื่นเอกสารและเตรียมความพร้อมไว้จนกว่าจะมีความชัดเจนในรยะเวลาอันใกล้นี้ก่อนจะมีการประชุมร่วมผู้ประกอบการเพื่อชี้แจงความชัดเจนอีกครั้ง

Subscribe
Advertisement