สรุปประชุมความคืบหน้าการรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมือง EEC ณ โรงแรมเฮอริเทจ บางแสน

               เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 เรือโทศตวรรษ อนันตกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมือง EEC 3 จังหวัด(ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา)และความก้าวหน้าโครงการ EEC โดยมีนางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการสายงานนโยบายและแผน EEC และรองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วมในการรับฟังความคิดเห็น ที่โรงแรมเฮอริเทจ บางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี
นายเชิดชัย นัยมิตร ในฐานะผู้ประสานงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะทำงานผังเมือง EEC ได้จัดให้มีการประชุมคณะทำงานผังเมือง EEC ณ โรงแรมเฮอริเทจ บางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี ในประเด็นการรับฟังความเห็นผังเมือง EEC และความคืบหน้าโครงการ EEC พอสรุปได้ว่า
               1. การผ่อนปรนในพื้นที่เขตชุมชนให้สามารถสร้างอาคารที่พักขนาดใหญ่ได้ในพื้นที่ บางแสน ศรีราชา บางละมุง และพัทยา
              2. การอนุญาตต่อยอดธุรกิจ SME ในพื้นที่ควบคุมที่มิใช่พื้นที่สีม่วง (อุตสาหกรรม)
              3. การขยายความเจริญการขนส่งและการเดินทางในพื้นที่ห่างออกไปในการเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาหลักชายฝั่งทะเล หนองใหญ่ บ่อทอง
             4. ให้เกิดการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการในพื้นที่ที่เข้าดำเนินงานเพื่อลดการสิ้นเปลืองงบประมาณของส่วนราชการ
             5. การเฝ้าระวังพื้นที่ทางทะเล ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบชีวภาพทางทะเล เช่น ขยะ และของเสีย
             6. มาตรการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย
             7. การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความสูญเสียและโอกาสการพัฒนา โดยการกำหนดเฉพาะเจาะจงในการก่อสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล
            8. ขอให้มีการกำหนดแผนการทำงาน (Time Line) ที่ชัดเจน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ
ฯลฯ
             ทั้งนี้คณะทำงานผังเมือง EEC โดยรองเลขาธิการ EEC และรองอธิบดีกรมผังเมือง จะนำข้อมูลไปปรับปรุง เพื่อเสนอข้อมูลให้บอร์ด EEC รับทราบต่อไป
                สำหรับโครงการ EEC ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor หรือชื่อภาษาไทยเรียกว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
Subscribe
Advertisement