สภาเมืองพัทยารุดลงพื้นที่ตรวจสอบชายหาดเขตปลอดดงตาล ระบุเตรียมสอบข้อเท็จจริงกรณีเมืองพัทยาปล่อยต้นปาล์มทิ้งไร้การดูแลจนใกล้ตายนับสิบต้นมูลค่านับแสนบาท ขณะที่โครงการปรับภูมิทัศน์เฟส 2 พบขุดร่องเตรียมปลูกปาล์มเพิ่มอีกนับสิบ ทั้งๆที่สภาเคยมีมติให้คงสภาพทางธรรมชาติไว้ห้ามปลูกเพิ่ม-ตัดทิ้ง เตรียมชงเรื่องเข้าประชุมซักฟอก

              จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าที่บริเวณชายหาดเขตปลอดดงตาล ม.12 เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ว่า “ต้นปาล์ม” ที่อยู่ในโครงการปรับภูมิทัศน์ของเมืองพัทยาและผู้รับเหมาขนมาปลูกไว้ริมชายหาดเพื่อสร้างความสวยงาม เกิดแห้งเหี่ยวเฉาตายจำนวนหลายสิบต้น ซึ่งจากการลงตรวจสอบพบต้นปาล์มจีน กว่า 30 ต้น บริเวณดังกล่าวเกิดแห้งเหี่ยวตามที่รับแจ้งมาจริง โดยความเสียหายกินระยะทางกว่า 500 เมตร ตั้งแต่บริเวณหน้าคอนโดวิวทะเล 7 ไปจนถึงเอวาลอนบีช รีสอร์ท มีลักษณะใบมีสีเหลืองแห้ง และลำต้นบาง ส่วนเฉาตายเนื่องจากไม่ได้รับการดูแล รดน้ำ หรือบำรุงรักษานั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.พ.62 นายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา พร้อมด้วยคณะสมาชิกสภาเมืองพัทยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักการช่างและบริษัทผู้รับเหมาโครงการ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพบสภาพของต้นปาล์มที่แห่งเฉาใกล้ตายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดเขตปลอดดงตาลในเฟสที่ 2 ซึ่งมีพื้นที่ต่อเชื่อมกันโดยระบุว่ามีปัญหาเช่นกัน
             นายอนันต์ ระบุว่าสำหรับพื้นที่ปัญหาที่มีต้นปาล์มจำนวนนับสิบต้นใกล้ตายนั้น โครงการนี้อยู่ในงบประมาณของการปรับปรุงภูมิทัศน์ในระยะที่ 1 ซึ่งไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยาในชุดปัจจุบัน แต่จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องทราบว่าโครงการนี้ยังอยู่ในระยะเวลาการรับประกันในส่วนของการก่อสร้างอยู่ซึ่งกินเวลา 2 ปี ส่วนเรื่องของต้นไม้ที่เสียหายนั้นตาม TOR ระบุว่าผู้รับจ้างจะดูแลในระยะเวลา 6 เดือนก่อนยกให้เมืองพัทยาเป็นผู้ดูแลช่วงต่อไป ซึ่งมีการส่งมอบอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2561 ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นคงจะมาให้ทางผู้รับเหมารับผิดชอบไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมืองพัทยาคงต้องดูแลรักษาบำรุงและดูแลต้นไม้เอง ส่วนที่ต้นไม้มีสภาพเช่นนี้จากการประมาณดูคาดว่าน่าจะขาดน้ำและการบำรุงรักษา ซึ่งจะได้เสนอต่อไปยังฝ่ายบริหารให้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลเร่งด่วนก่อนเกิดความเสียหาย

              นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่าที่ติดใจคือเรื่องของโครงการปรับภูมิทัศน์ระยะที่ 2 ชายหาดเขตปลอดดงตาลซึ่งต่อเชื่อมจากระยะที่ 1 ด้วยโครงการผ่านการพิจารณาจากสภาเมืองพัทยาในยุคปัจจุบัน เนื่องจากแม้จะเป็นงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลแต่ก็ต้องมีงบประมาณจำนวน 10 % จากท้องถิ่นเข้าไปสมทบ ซึ่งการพิจารณาของสภาเมืองพัทยาในขณะนั้นมีมติชัดเจนว่าให้หยุดการดำเนินการที่มีแบบเหมือนระยะที่ 1 โดยมีแผนให้ทำการปรับปรุงแบบ หรือ TOR โดยไม่อยากให้มีการตัดตัดไม้ขนาดใหญ่บริเวณชายหาดทิ้งออกเพื่อคงสภาพทางธรรมชาติที่สวยงามร่มรื่นนักท่องเที่ยวต้องการไว้ จะมีเพียงการจัดสร้างฟุตปาธ ถนนสาธารณะ และห้องสุขาเพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มเท่านั้น แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการนี้ซึ่งมีความคืบหน้าไปกว่า 60-70 % พบว่าแม้ต้นไม้ส่วนใหญ่บนชายหาดจะยังไม่ถูกตัดทิ้ง แต่บางส่วนก็ถูกตัดทิ้งออกไปซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะชายหาดแห่งนี้ถือเป็นปอดแห่งสุดท้ายของเมืองพัทยาที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยม มิหนำซ้ำแถมยังมีการขุดเจาะแนวฟุตปาธเพื่อมีแผนในการนำต้นปาล์มมาปลูกเพิ่มอีกจำนวนหลายสิบต้น ซึ่งมองว่าไม่เหมาะสม จึงไม่ทราบได้ว่าใครเป็นผู้อนุมัติ TOR และดำเนินการค้านกับมติของสภาเมืองพัทยาได้อย่างไร

              ทั้งนี้ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้จะมีการนำเรื่องดังกล่าวทั้งในส่วนของโครงการในระยะที่ 1 และ 2 เข้าไปสอบถามข้อเท็จจริงในสภาเมืองพัทยาอีกครั้ง เพื่อทำการแก้ไขให้ตรงเจตนารมณ์และตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญด้วย
มีรายงานว่าสำหรับโครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดจอมเทียนนี้จัดทำในงบประมาณ 257 ล้านบาท ด้วยงบประมาณอุดหนุนผูกพันจากส่วนกลาง ซึ่งเริ่มดำเนินการระหว่างปี 2558-2560 ตลอดระยะทางยาวตลอดแนวชายหาดรวมกว่า 4 กิโลเมตร โดยจะมีการปรับภูมิทัศน์ด้วยการปลูกต้นไม้สวยงาม การขยายฟุตปาธทางเท้า และทำที่จอดรถ ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินการคล้ายกับพื้นที่ชายหาดพัทยา และชายหาดกระทิงลาย โดยจะเน้นการเพิ่มพื้นที่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
Subscribe
Advertisement