สภาพัทยาผ่านงบ 188 ล้าน ปรับปรุงระบบสถานีสูบระบบบำบัดน้ำเสีย หลังฝ่ายบริหารแจงชำรุดหนักจากการใช้งานนานกว่า 17 ปี

สภาพัทยาผ่านงบ 188 ล้าน ปรับปรุงระบบสถานีสูบระบบบำบัดน้ำเสีย หลังฝ่ายบริหารแจงชำรุดหนักจากการใช้งานนานกว่า 17 ปี ขณะที่ สม.พัทยาจี้โครงการจัดทำปี 43 มีแผนปรับปรุงระบบ 2 ระยะทุก 10 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้บำบัดน้ำเสียได้กว่า 1.2 แสน ลบ.ม.แต่ไม่ดำเนินการ ปล่อยเสื่อมโทรมทำคุณภาพน้ำต่ำ
ในการประชุมสภาเมืองพัทยา ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา นำเสนอญัตติการขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมจำนวน 188 ล้านบาทจากสภาเมืองพัทยา เพื่อไปดำเนินการปรับปรุงครุภัณฑ์ในสถานีและระบบรวบรวมน้ำเสียเมืองพัทยา หลังพบว่าวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร และความสามารถในการรวบรวมน้ำเสียและระบบระบายน้ำของสถานีสูบทั้ง 6 แห่ง ที่ใช้งานมนานกว่า 20 ปีนั้น มีประสิทธิภาพการทำงานที่ตกต่ำลงจากปัญหาเครื่องจักรที่เสื่อมสภาพไร้การบำรุงและดูแลรักษา ซึ่งจะไปส่งผลทำให้คุณ ภาพของน้ำหลังการบำบัดลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และปัญ หาน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองพัทยาได้อย่างต่อเนื่อง  นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา ชี้แจงว่าสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาก่อสร้างด้วยงบประมาณกว่า 1,800 ล้านบาท และเปิดใช้ในปี 2543 เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งครอบคุลมพื้นที่กว่า 36 ตร.กม.ทั่วเขตเมืองพัทยาหรือประมาณ 68 % ซึ่งถือเป็นมาตรการในการกำจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษตามประกาศของกระทรวง โดยมีการออกแบบการก่อสร้างสถานีสูบจำนวน 6 จุด เพื่อรวบรวมน้ำเสียจากที่พักอาศัยและสถานประกอบการต่างๆส่งเข้ามาบำบัดยังสถานีบำบัดหลักที่ซอยหนองใหญ่ในอัตรา 65,000 ลบ.ม./วัน แต่จนถึงปัจจุบันผ่านระยะเวลาการใช้งานมานานกว่า 17 ปี พบว่าระบบรวบรวมโดยเฉพาะครุภัณฑ์สำคัญตามสถานีสูบต่างๆเกิดการชำรุดทรุดโทรมอย่างหนักมากกว่า 40-50 % รวมแล้วประมาณ 223 รายการจาก 587 รายการหรือกว่า 38 % จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงและซ่อมแซมเพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเมืองพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้คุณภาพของน้ำที่ผ่านการบำบัดตกต่ำลงและจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพ รวมได้ จึงได้เสนอขอความเห็นชอบในงบประมาณจำนวน 188 ล้านบาทเพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม


ขณะที่ นายชาคร กัญจนะวัตตะ รองประธานสภาเมืองพัทยา กล่าวว่าระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาเปิดใช้งานมานานกว่า 17 ปีแล้ว ซึ่งตามแผนในช่วงของการจัดทำระบุไว้ชัดเจนว่าหลังเปิดดำเนินการในช่วง 10 ปี แรกจะมีพัฒนาระบบให้มีความสามารถรองรับน้ำจาก 65,000 ลบ.ม../วัน เป็น 85,000 ลบ.ม.ต่อวัน และระยะที่ 2 อีก 10 ปีต่อมาจะมีการพัฒนาระบบจากเดิมเพิ่มเป็น 1.3 แสน ลบ.ม./วัน แต่กลับพบว่าปัจจุบันเป็นเพียงการขอซ่อมแซมไม่ใช่การขยายระบบ แล้วที่ผ่านมาทำไมถึงไม่ดำเนินการตามแผน กลับปล่อยให้อุปกรณ์เกิดความเสียหาย และการรองรับน้ำเสียก็ยังไม่มีความสามารถในการรองรับได้อย่างเพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบแต่ละวันที่มากกว่าความสามารถในการรองรับ ด้านนายธเนศ ศุภรสหัสรังสี สมาชิกสภาเมืองพัทยาปัญหาของระบบคือมีแต่การชี้แจงข้อมูลว่าโครง การนี้รองรับน้ำเสียได้ 65,000 ลบ.ม./วัน ขณะที่การชี้แจงล่าสุดระบุว่ามีปริมาณน้ำเสียเพิ่มขึ้นเป็น 7 หมื่นกว่า ลบ.ม./วัน ซึ่งเป็นเพียงเรื่องของตัวเลขขณะที่ข้อเท็จจริงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีระบบการบำบัดและการรองรับได้ตรงตามการชี้แจงหรือไม่ เพราะไม่มีการจัดทำมิเตอร์ หรือ Level Flow Meter วัดปริมาณคุณภาพน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำที่ปล่อยไหลลงสู่ทะเลมีสภาพขุ่นดำ มีกลิ่น และเศษตะกอนเป็นจำนวนมากส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ที่สำคัญจากข้อมูลของการประปาส่วนภูมิภาคระบุว่าในพื้นที่เมืองพัทยามีการใช้น้ำ ประปาอยู่ที่ 2 แสนกว่า ลบ.ม./วัน จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีน้ำเสียเพียง 7 หมื่นกว่า ลบ.ม./วันเท่านั้น จึงควรให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย
ด้านนายอนุวัตร ทองคำ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาล ชี้แจงว่าสำหรับโครงการระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยานั้นดำเนินการมานานหลายปีแล้ว ทำให้ครุภัณฑ์ชำรุดเสียหายส่งผลให้ระบบบำบัดมีปัญหาเช่นกัน โดยการขอจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้เป็นเพียงการปรับปรุงระบบรวบรวมให้มีประสิทธิภาพไม่ใช่การเพิ่มความสามารถในการบำบัด แต่จะมีการติดตั้งมิเตอร์เพื่อวัดปริมาณน้ำเสียด้วย เพราะเมืองพัทยามีแผนในการปรับปรุงโรงบำบัดหลักหลังจากได้รับงบประมาณสนับสนุนในปี 62 จำนวน 176 ล้านบาทจากรัฐ บาลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากสภาผ่านความเห็น ชอบก็จะเร่งดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้ระบบรวบ รวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและปัญหาน้ำเสียค้างท่อหรือการส่งน้ำไปบำบัดก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน แม้ความสามารถของระบบจะระบุไว้ว่ารองรับน้ำเสียได้ 65,000 ลบ.ม./วัน แต่จำนวนน้ำเสียในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 7 หมื่นกว่า ลบ.ม.ก็ถือว่ายังคงสามารถรองรับได้ โดยค่าคุณภาพของน้ำหรือ BOD ที่ตั้งไว้ตามเกณฑ์ที่ไม่เกิน 20 ก็ยังถือว่ายังอยู่ในมาตรฐาน

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดสภาเมืองพัทยาได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมจำนวน 188 ล้านบาท เพื่อให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และซ่อมแซมครุภัณฑ์ที่ชำรุดเพื่อแก้ไขปัญหาดัง กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป…
Subscribe
Advertisement